ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.ซี.เจ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ "TCJ" ผู้จัดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องจักรก่อสร้าง ยานยนต์อุตสาหกรรม นอกจากนี้เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่าย และให้ บริการติดตั้งครบวงจรในด้านสินค้าประเภทโลหะภัณฑ์ ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าสูงสุดเปิดเผย ว่า เมื่อปลายเดือน เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีกจำนวน 65.82 ล้านหุ้น โดยจัดสรรไม่เกิน 21.94 ล้านหุ้น ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งกำหนดจองซื้อวันที่ 22-26 พฤษภาคม 60 นี้ โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้รองรับการขยายตัวทางธุรกิจที่มีโอกาศเติบโตหลายเท่าตัว ตามปริมาณงานก่อสร้างที่กำลังเพิ่มขึ้นตามโปรเจ็กต์งานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาลและโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และยังสำรองใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วย
ทั้งนี้ หุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 43.88 ล้านหุ้น จะใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) TCJ-W2 ที่จะออกจำนวน 43.88 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 2 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 3 ปี กำหนดอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท โดยภายหลังการเพิ่มทุนจะทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1.54 พันล้านบาท จากเดิม 877.60 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,245.38 ล้านบาท โดยคาดผลการดำเนินงานปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร รวมถึงกับสถาบันการเงิน ทำให้ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะผลักดันและยกระดับธุรกิจให้เติบโต และสร้างผลตอบแทนให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุด ประกอบกับ ธุรกิจคาดจะเติบโตในทุกๆ ภาคส่วนโดย "ธุรกิจเครื่องจักรกลหนัก" ที่ดำเนินงานโดยบริษัทย่อย อย่าง "บริษัท บิ๊กเครน แอนด์ อิควิปเม้นต์ เร้นทัลส์ จำกัด" ผู้นำธุรกิจให้เช่าเครื่องจักกลหนัก รถยก เครน รถบรรทุกติดเครน ในปี 2560 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีโอกาสรับงานจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่ได้รับโปรเจ๊กต์งานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ITD , STEC, UNIQ และCK ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าของบริษัทอยู่แล้ว
ส่วนธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลหนัก ก็เห็นสัญญาณการเติบโตเช่นเดียวกัน ซึ่ง TCJ ได้รับการแต่งตั้งจาก KION ให้เป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์รถยกที่มีคุณภาพสูงชื่อว่า "STILL" จากประเทศเยอรมัน ตั้งแต่ปี 2554 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยกและยานยนต์อุตสาหกรรม เพื่อการจัดการสินค้า แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ทั้งนี้ ตราสินค้า STILL เป็นตราสินค้าที่มีคุณภาพสูง และมีนวัตกรรมด้านการประหยัดเชื้อเพลิง และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอยู่ภายใต้ KION GROUP ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตรถยกรายใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปยุโรป
ด้าน "ธุรกิจท่อเหล็กกล้าไร้สนิม" ดำเนินการโดย "บริษัท โตโย มิลเลนเนียม จำกัด หรือ TOYO" ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่ง TCJ ถือหุ้น 51% นั้น ในปี 2560 จะได้รับอานิสงส์งานโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงจะได้รับประโยชน์นโยบายให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (มาตราการ AD) ด้วย ทำให้ความต้องการในประเทศยิ่งเพิ่มขึ้น ล่าสุด TOYO มีออเดอร์ล่วงหน้าถึงเดือนตุลาคม 2560 แล้ว
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากตามคำร้องของบริษัทย่อยต่อกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการปกป้องการทุ่ม ตลาดและการอุดหนุน ได้ใช้มาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures) ต่อประเทศสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ไต้หวัน และเวียดนาม ส่งผลดีต่อบริษัทย่อยที่ผลิตท่อเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมที่เคยถูกทุ่มตลาดมาโดยตลอด ให้ได้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผลประกอบการของบริษัทย่อยนี้ จึงดีขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้ง TOYO ยังมีแผนขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน
" TCJ มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นเวลานาน ดังนั้นบริษัทจึงมีฐานลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ขายส่ง และลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขึ้นรูป (Fabricator) อยู่เป็นจำนวนมากแล้ว บริษัท ยังทราบถึงความต้องการใช้เหล็กแผ่นของลูกค้าแต่ละรายในแต่ละช่วงเวลา ทำให้สามารถจัดหามาจำหน่ายในจำนวนที่ลูกค้าต้องการได้" ดร.ทรงวุฒิ กล่าว
ดร.ทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมเข้าร่วมประมูลงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้าหลายสาย โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไม่ช้านี้
ล่าสุดเมื่อปี 2558-2559 บริษัทฯได้เข้าทำสัญญารับงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้า บนดิน และใต้ดิน ทั้งหมด 4 สัญญา ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบนดิน โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มูลค่ารวมประมาณ 150-200 ล้านบาท ในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีการส่งมอบงานไปแล้ว 32.5% โดยคาดว่าจะส่งมอบได้ทั้งหมดในปี 2561
ดร.ทรงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยนั้น ไม่น่ากังวล เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้จำหน่ายเหล็กแผ่นให้กับลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็นเป็นสินค้าเหล็กแผ่นที่มีคุณสมบัติเฉพาะ และมีผู้จัดจำหน่ายไม่มากราย จึงไม่พบกับภาวะแข่งขันที่รุนแรง เพราะการกำหนดราคาเหล็กชนิดพิเศษเหล่านี้เป็นไปตามกลไตลาดโลกมากกว่าที่จะมาจากการตัดราคา เพื่อแข่งขันกันเองของผู้จำหน่ายในประเทศ