ศ.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2568 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สร้างอาคารเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรขึ้น โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนม์มายุ 60 พรรษา และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารนี้ว่า "อาคาร ส.ธ."
ในการนี้จึงได้จัดงาน "ชราชนม์คนคุณภาพ กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ขึ้นในวันที่ 22- 24 พฤษภาคม 2560 ณ โถงชั้น 1 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในงานแต่ละวันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย ได้แก่ การบริการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย การจัดนิทรรศการ จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงวัย การออกบูธต่างๆของหน่วยงานภายในโรงพยาบาลและหน่วยงานภายนอก รวมถึงการแนะนำหลักสูตร / การจัดอบรมการดูแลผู้สูงวัยอย่างถูกวิธี
นางศิริลักษณ์ สิโยพุทธวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านบริการ กล่าวว่า ในงานมีการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น วัดความดันโลหิต หาค่าดัชนีมวลกาย(BMI) ประเมินภาวะความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ การประเมินภาวะความเสี่ยงของอวัยวะต่างๆ เช่น หู กระดูก ข้อ สมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้า การตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ( Fibroscan) พร้อมทั้งมีการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ รวมถึงมีการส่งต่อผู้สูงอายุหลังการคัดกรองที่ต้องการรักษาเฉพาะทางไปยังคลินิกหรือศูนย์ต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความสะดวกสบายในการดูแลรักษาแบบครบวงจรอย่างแท้จริง
ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านวิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศ กล่าวว่า คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี อาคาร ส.ธ. ชั้น 4 เป็นคลินิกสหสาขาที่มีบทบาทเพื่อเป็นต้นแบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันกลุ่มอาการเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะหกล้มบ่อย สำลัก ปัญหาการมองเห็น การได้ยิน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
นางพรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้วเรายังเน้นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้สูงอายุกับบุคคลต่างวัยที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกันด้วย เช่น พื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุ การเข้าใจถึงจิตใจของผู้สูงอายุ ฯลฯ
ผศ.(พิเศษ) นายแพทย์สุรินทร์ อัศววิทูรย์ทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวย ด้านภาพลักษณ์องค์กรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้เรายังมีโครงการดี "กดด้วยใจ ใครๆ ก็ทำได้" ที่ทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ เตรียมจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดียิ่งขึ้น ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ เพื่อการเปิดรับบริจาคสมทบทุน โครงการกองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในการดูแลรักษาโรคเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุที่ยังขาดแคลนโดยประชาชนทั่วไปใครๆ ก็สามารถร่วมบริจาคได้ด้วยวิธีการง่ายๆ กด SMS ผ่านมือถือทุกระบบ