อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มีแนวทางการจัดการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเพื่อลดผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ประการแรกเกษตรกรต้องลงเลี้ยงปลาไม่ให้หนาแน่นเกินไป ควรลดปริมาณปลาที่จะลงเลี้ยงให้เหลือประมาณ 60-70% จากภาวะปกติ จะทำให้ปลาอยู่สบายไม่แออัดและเกิดความเครียดน้อย เพราะความเครียดจะส่งผลให้ปลากินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตช้าลง และอาจเจ็บป่วยได้ แต่หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงปลาในปริมาณเท่าเดิม แนะนำให้เพิ่มจำนวนกระชังแทนเพื่อลดความเสี่ยง ถ้าเป็นไปได้ควรย้ายกระชังลงไปในบริเวณน้ำลึกและมีอัตราการไหลที่ดีกว่า รวมทั้งต้องมีระบบป้องกันโดยการทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากฤดูร้อนพาราไซต์และแบคทีเรียจะเติบโตรวดเร็ว และควรกำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ซึ่งจะช่วยลดการกีดขวางการไหลของน้ำผ่านกระชัง ที่จะทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง ควบคู่กับการตรวจค่าแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 PPM และหากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำฉับพลัน ต้องผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินติดต่อกัน 5-7วัน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับปลา
ขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณออกซิเจนในน้ำที่ต้องไม่ต่ำจนเกินไป โดยต้องวัดค่า DO (Dissolved Oxygen) หรือปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ให้บ่อยขึ้น เพราะน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง จึงควรติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อช่วยเติมอากาศในน้ำ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ควรเปิดตลอดเวลาเพื่อให้น้ำมีการผสมกัน ไม่เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ และช่วยให้อุณหภูมิน้ำไม่สูงจนเกินไป
สำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำ ปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร วัดค่าความขุ่นใสให้ได้ 40-50 เซ็นติเมตร และต้องวัดค่า DO บ่อยครั้งขึ้นและควรเปิดเครื่องตีน้ำในช่วงกลางวันด้วย
"ตัวช่วยที่ดีสำหรับช่วงอากาศร้อนและมีฝนตกหนักสลับเช่นนี้คือ การติดตั้งเครื่องตีน้ำไว้ข้างกระชังปลา หรือในบ่อเลี้ยงปลา โดยเทคโนโลยีนี้ซีพีเอฟได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบให้อากาศในบ่อเลี้ยงกุ้ง พบว่าสามารถเพิ่มอากาศในน้ำได้เป็นอย่างดี ช่วยลดอุณหภูมิน้ำได้ การไหลเวียนของน้ำดีขึ้น ทำให้การเลี้ยงปลามีประสิทธิภาพดีขึ้น ปลาเติบโตได้ดีขึ้น และมีความต้านทานโรคดี นอกจากนี้เกษตรกรต้องหมั่นตรวจสุขภาพปลาด้วยการสุ่มตรวจพาราไซต์และอาการผิดปกติของปลาเป็นประจำทุกๆสัปดาห์ โดยอาจจะเสริมสารโปรไบโอติก ที่เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์เพื่อช่วยควบคุมสมดุลในตัวปลา หรือให้สารเพิ่มภูมิต้านทานกลุ่มเบต้ากลูแคน ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของปลาช่วยป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆได้" ผู้เชี่ยวชาญจากซีพีเอฟย้ำ
ที่สำคัญช่วงอากาศร้อนปลามักจะกินอาหารลดลง จึงควรหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลา ควรให้อาหารเท่าที่ปลากินได้ โดยต้องให้กินให้หมดอย่าให้เหลือลอยน้ำ ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย หากปลาเริ่มกินได้ช้าลง ก็ไม่ควรปล่อยให้อาหารลอยน้ำเกิน 15 นาที ต้องตักออก และปรับปริมาณการให้อาหารให้พอดีกับการกิน อาจเปลี่ยนมาให้ในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นที่อากาศไม่ร้อน และแบ่งการเป็น 5–6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นการกิน
แนวทางการจัดการทั้งหมดที่ซีพีเอฟแนะนำนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เพียงเกษตรกรใส่ใจดูแลการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันได้