ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ยาบ้าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานโดยผลิตจากสารประกอบที่เรียกว่าแอมเฟตามีน เดิมเป็นที่รู้จักกันในชื่อยาม้า และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป ยาตื่นตัว ยาเพิ่มพลัง เป็นต้น นิยมเสพโดยรับประทานโดยตรงหรือผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือเสพโดยนำยาบ้ามาบดแล้วนำไปลนไฟแล้วสูดดมเป็นไอระเหยเข้าสู่ร่างกาย จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ การเสพยาบ้านอกจากจะเป็นอันตรายกับตัวผู้เสพเองโดยตรงแล้ว ผลจากการเสพยาบ้ายังสร้างผลกระทบให้กับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นบุคคลใกล้ชิดหรือผู้คนทั่วไป เช่น การลักทรัพย์ การจี้ปล้น การถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะๆ
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาการระบาดของยาบ้าและพยายามกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อลดจำนวนผู้เสพลง เช่น การปราบปรามผู้ผลิตและผู้จำหน่าย การกำหนดโทษให้สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่าย การนำผู้ติดยาบ้าเข้าสู่กระบวนการแก้ไขบำบัด แต่การระบาดของยาบ้าและปัญหาที่มีผลกระทบจากการเสพยาบ้ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยเสนอแนวคิดให้มีการลดระดับยาบ้าจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปเพื่อให้สามารถนำสารประกอบจากการผลิตยาบ้ามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเพื่อลดปริมาณการผลิตยาบ้า ซึ่งมีนักวิชาการบางส่วนที่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมซึ่งแสดงความห่วงใยว่าการลดระดับประเภทยาเสพติดของยาบ้าอาจนำไปสู่การหาซื้อยาบ้าได้ง่ายขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่อาจกลายเป็นผู้ติดยาเสพติดได้ง่าย ดังนั้นจากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อแนวคิดการประกาศลดระดับยาบ้าจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไป
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 20 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.64 และเพศชายร้อยละ 49.36 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับยาบ้า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.61 ทราบว่ายาบ้าในอดีตมีชื่อเรียกเดิมว่า "ยาม้า" ก่อนถูกเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็นยาบ้าในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.39 ยอมรับว่าไม่ทราบ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.56 ไม่ทราบว่าสารแอมเฟตามีนที่เป็นสารประกอบตั้งต้นของยาบ้าสามารถหาซื้อได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมายในบางประเทศ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.44 ทราบ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.86 ทราบข่าวแนวคิดการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.14 ไม่ทราบ
ในด้านความคิดเห็นต่อแนวคิดการประกาศลดระดับยาบ้าจากยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไป กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.79 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปแล้วจะทำให้ยาบ้ามีราคาถูกลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.35 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปแล้วจะทำให้หาซื้อยาบ้าได้ง่ายขึ้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.54 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปแล้วจะไม่มีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ติดยาบ้าลงได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.07 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปแล้วจะส่งผลให้มีการก่อคดีความรุนแรง เช่น จี้ ปล้น ชิงทรัพย์ ฆ่า/ทำร้ายร่างกาย/ข่มขืน เป็นต้น โดยผู้ติดยาบ้าเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.07 กลัวว่าหากมีการประกาศลดระดับยาบ้า/แอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไปแล้วจะส่งผลให้เด็กเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงยาบ้าได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.95 เห็นด้วยที่จะมีการนำสารแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสารประกอบตั้งต้นในการทำยาบ้ามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคบางอย่าง
และเมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างการประกาศลดระดับยาบ้ากับการลดระดับเฉพาะสารแอมเฟตามีนจากยาเสพติดประเภทที่มีฤทธิ์ร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภททั่วไป กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.19 มีความคิดเห็นว่าลดระดับเฉพาะสารแอมเฟตามีนเหมาะสมกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.81 มีความคิดเห็นว่าลดระดับยาบ้าเหมาะสมกว่า