นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลบัญชีสมดุลสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2560 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ดำเนินการสำรวจสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสถานการณ์การผลิต วิถีการตลาด อุปสงค์ อุปทาน เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาการจัดทำบัญชีสมดุลระดับจังหวัด ปี 2560 ที่จะส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าวเกิดความสมดุลด้าน Demand-Supply เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคายุติธรรม ซึ่งผลสำรวจตัวอย่างแต่ละจังหวัด พบว่า
ข้าวเหนียว จังหวัดชัยภูมิ ผลผลิตภายในจังหวัด มีปริมาณ 251,153 ตันข้าวเปลือก นำเข้าจากต่างจังหวัด 87,903 ตันข้าวเปลือก รวมผลผลิตทั้งหมด 339,056 ตันข้าวเปลือก ซึ่งผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ในขณะที่ความต้องการใช้ข้าวเปลือกเหนียวของจังหวัดมีปริมาณทั้งหมด 295,678 ตันข้าวเปลือก เก็บไว้ทำพันธุ์ 25,689 ตันข้าวเปลือก ส่งเข้าโรงสีเพื่อสีแปรรูปเป็นข้าวสาร 100,461 ตันข้าวเปลือก และส่งออกข้าวเปลือกเหนียวไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอนแก่น นครราชสีมา ปริมาณ 169,528 ตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ผลผลิตส่วนเกินความต้องการใช้ในจังหวัด มีปริมาณ 43,377 ตันข้าวเปลือก หากไม่มีการนำเข้าข้าวเปลือกจากจังหวัดอื่น จึงส่งผลให้ปริมาณข้าวเปลือกเหนียวที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในจังหวัด
หัวมันสำปะหลังสด จังหวัดบุรีรัมย์ มีผลผลิต ทั้งสิ้น 829,069 ตัน ไม่มีการนำเข้าจากจังหวัดอื่น เนื่องจากภายในจังหวัดไม่มีโรงงานประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง ปริมาณความต้องการใช้ของโรงงานภายในจังหวัด จำนวน 660 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตที่สหกรณ์การเกษตรมีพันธะสัญญาส่งผลผลิตมันเส้นให้กับ สหกรณ์โคนม เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ และที่เหลือจำนวน 828,409 ตันหัวมันสด เป็นการส่งให้กับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังนอกจังหวัด หากพิจารณาถึงความต้องการของตลาดรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด สามารถรับซื้อได้อย่างต่อเนื่อง
อ้อยโรงงาน จังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณ ทั้งสิ้น 2,224,161 ตัน เป็นอ้อยที่ผลิตได้ภายในจังหวัด 1,024,161 ตัน และเป็นอ้อยโรงงานที่นำเข้าจากจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จำนวน 1,200,000 ตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ของโรงงาน มีปริมาณ 2,224,161 ตัน โดยส่งเข้าโรงงานน้ำตาลในจังหวัด 2,174,161 ตัน และส่งออกไปยังโรงงานในจังหวัดอื่นที่ใกล้เคียง 50,000 ตัน ซึ่งหากพิจารณาถึงกำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่ภายในจังหวัด สามารถรองรับผลผลิตอ้อยโรงงานได้ประมาณ 3,840,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ การวิเคราะห์บัญชีสมดุลสินค้าเกษตรนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลากหลายด้านจึงจะสามารถนำมากำหนดเป็นนโยบาย และแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรทั้งในด้านอุปทาน (Supply) และด้านการนำไปใช้ประโยชน์ (Utilization) ต่อไปได้ โดยเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 โทร.044-465079 , 044-465120ในวันและเวลาราชการ หรือ อีเมล[email protected]