7 สมาคมเหล็กจี้รัฐบาลเร่งบังคับใช้ Anti-circumvention

อังคาร ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๔๔
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย(Public Hearing) ต่อร่างพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ว่าด้วย"มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention)" เนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้ส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเหล็กหลายประเภท พยายามใช้ช่องโหว่ของกฎหมายการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนในการหลบเลี่ยงมาตรการ สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศและทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บอากรทุ่มตลาดในการนี้กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคมประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย ในฐานะกลุ่มอุตสาหกรรมภายในที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสินค้าเหล็กนำเข้าหลบเลี่ยงมาตรการและการอุดหนุน ร่วมแถลงสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งออกประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศพยายามผลักดันกระทรวงพาณิชย์มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยในปี 2558 ผู้แทน 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2559คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน

นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กกล่าวว่าปัจจุบันผู้ส่งออกเหล็กต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย พยายามแสวงหาช่องทางต่างๆเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เช่น กรณีเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีการเคลือบสีอย่างหยาบ หรือ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีโดยเจือธาตุอัลลอยด์เพียงเล็กน้อย เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรสินค้าที่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ถูกเรียกเก็บอากรทุ่มตลาด "ผู้ส่งออกเหล็กต่างประเทศอาศัยช่องว่างของกฎหมายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติในเรื่องมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดหรือ Anti-Circumvention ซึ่งเป็นมาตรการทางการค้าที่บังคับใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเป็นเวลานานแล้ว" นายนาวากล่าว

นายอนุวัฒน์ หวังวณิชชากร เลขาธิการสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ชี้ว่าขณะนี้ปัญหาสินค้าเหล็กหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดกลายปัญหาสำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียนไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งผู้ส่งออกจีนมีพฤติกรรมที่ชัดเจนในการหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด โดยวิธีการที่ผู้ส่งออกจีนใช้ก็คือ การเลี่ยงจากการเจือธาตุโบรอน ซึ่งประเทศผู้ผลิตเหล็กในอาเซียนส่วนใหญ่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้ว ไปเจือธาตุอัลลอยด์ชนิดอื่น เช่น โครเมียม แทน

"ผู้ส่งออกเหล็กจีนไม่เพียงแต่หลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด แต่ยังใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของโครงสร้างภาษีของรัฐบาลจีนเองด้วย เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ยกเลิกการส่งเสริมการส่งออกเหล็กเจือธาตุโบรอน โดยยกเลิกการคืนภาษีสำหรับการส่งออก (Tax Rebate) ผู้ส่งออกเหล็กจึงเปลี่ยนไปเจือธาตุอัลลอยด์อื่นๆ ที่ไม่ใช่โบรอนแทน ซึ่งรัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนให้ Tax Rebate อยู่ เรียกว่าได้กำไรสองเด้งคือ นอกจากไม่ต้องโดนอากรทุ่มตลาดในประเทศ ผู้นำเข้าแล้ว ยังได้เงินสนับสนุน(Subsidy) จากรัฐบาล ทำให้มีแต้มต่อด้านราคาเหนือผู้ประกอบการเหล็กในอาเซียนอีกด้วย นับตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิก Tax Rebate เหล็กเจือโบรอนในปี พ.ศ. 2558 ปริมาณเหล็กเจือธาตุอัลลอยด์อื่นๆนำเข้าจากประเทศจีนจำนวนมหาศาลทะลักเข้ามาในตลาดอาเซียน เช่น เหล็กเส้น (Bar) เจืออัลลอยด์ นำเข้าจากจีนเพิ่มจาก 1.5 ล้านตันในปี 2557 เป็น 11 ล้านตันในปี 2558 และ13 ล้านตันในปี 2559 เหล็กแผ่นหนา (Plate) เจืออัลลอยด์ เพิ่มจาก 0.16 ล้านตันในปี 2557 เป็น 2 ล้านตันในปี 2558 และ 2.4 ล้านตันในปี 2559 และเหล็กลวด (Wire Rod) เจืออัลลอยด์ เพิ่มจาก 0.32 ล้านตันในปี 2557 เป็น3.2 ล้านตันในปี 2558 และ 4.3 ล้านตันในปี 2559 " นายอนุวัฒน์กล่าว

ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้ากลายเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือในเวทีการประชุม ASEAN-China Steel Dialogue ครั้งที่ 14 ที่เมืองถังชาน ประเทศจีน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย "สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน หรือASEAN Iron and Steel Council (AISC)" ซึ่งมีผู้ประกอบการเหล็กไทยร่วมเป็นภาคี ได้ร้องขอผ่าน สมาคมผู้ประกอบการเหล็กจีน หรือ China Iron and Steel Association (CISA) ให้รัฐบาลจีนช่วยเร่งแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) ของสินค้าเหล็กเจืออัลลอยด์ทุกชนิด รวมทั้งเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน เหล็กเคลือบ และเหล็กท่อ

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่จะบัญญัติเพิ่มเติมในพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ฉบับนี้ก็คือ หากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีคำวินิจฉัยว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้เรียกเก็บอัตราอากรในอัตราสูงสุดของสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากประเทศต้นเหตุของการหลบเลี่ยงนั้น สำหรับระยะเวลาของกระบวนการพิจารณานับตั้งแต่วันประกาศไต่สวนในราชกิจจานุเบกษาจนถึงการดำเนินการให้มีคำวินิฉัยว่ามีพฤติการณ์หลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดหรือไม่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือนและขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อมีการประกาศไต่สวนหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจต้องมีการเรียกเก็บอากรตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศไต่สวน คณะกรรมการฯอาจขอให้กรมศุลกากรเรียกเก็บหลักประกันอากรตามที่คณะกรรมการฯ มีคำขอได้

"กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคม อยากวอนขอให้รัฐบาลเร่งออกประกาศบังคับใช้กฎหมายมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนโดยเร็วที่สุด เพราะจะช่วยอุดช่องโหว่ของมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยป้องกันสินค้าเหล็กนำเข้าที่มีเจตนาหลบเลี่ยงอากรและเข้ามาขายทุ่มตลาดเหล็กในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคมขอเสนอให้มีการกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับผู้กระทำความผิด ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายนาวากล่าว

นายอนุวัฒน์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงพาณิชย์คงต้องเร่งบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดโดยด่วน เพราะหากพิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนี้พบว่า มีความเสี่ยงสูงที่เหล็กจีนจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นอีก เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กส่วนเกินให้ลดลงได้ จากที่ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณลง 20-30ล้านตันต่อปี แต่ปรากฎว่าเมื่อปีที่แล้วปริมาณเหล็กกลับเพิ่มขึ้นกว่า 37 ล้านตัน ประกอบกับประเทศสหรัฐอเมริกากำลังหันไปใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าเหล็กจีนเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐที่จะถูกใช้มาตรการทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าเหล็กจีนก็เคยถูกผู้ผลิตเหล็กสหรัฐกล่าวหาในเรื่องการหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด โดยส่งออกสินค้าผ่านทางประเทศที่สาม เช่น เวียดนามและไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นได้อย่างมากที่ผู้ส่งออกจีนจะระบายสินค้าเหล็กมายังตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ