ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 นี้จะเป็นวันครบรอบสามปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาเกือบสามปีที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการดำเนินการเพื่อปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายในด้านต่างๆของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งผู้ที่พึงพอใจและไม่พึงพอใจ ขณะที่ยังคงมีผู้คนในสังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังคงมีปัญหาต่างๆของประเทศที่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่มีผู้คนอีกส่วนหนึ่งยังคงให้กำลังใจและชื่นชมการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีในการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในรอบ 3 ปี โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.56 และเพศชายร้อยละ 49.44 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความพึงพอใจต่อการบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งจำแนกออกเป็น 10 ด้านคือ 1) การปลูกฝังให้คนไทยมีจิตรสำนึกรักสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) การแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด/อบายมุข/การพนัน 3) การแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภค/บริโภคราคาแพง 4) การสร้างความสามัคคีลดความขัดแย้งของคนในชาติ 5) การแก้ไขความไม่สงบ/ความวุ่นวายทางการเมือง 6) การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ 7) การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในนโยบาย/กิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐ 8) การปราบปรามผู้มีอิฐธิพล/การกระทำผิดกฎหมาย 9) การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร/ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ และ 10) การดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากต่อการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในด้านการปลูกฝังให้คนไทยมีจิตรสำนึกรักสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์คิดเป็นร้อยละ 46.71 การแก้ไขความไม่สงบ/ความวุ่นวายทางการเมือง
คิดเป็นร้อยละ 45.26 การแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด/อบายมุข/การพนันคิดเป็นร้อยละ 38.51 และการปราบปรามผู้มีอิฐธิพล/การกระทำผิดกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 29.12 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางต่อการทำงานในด้านการสร้างความสามัคคีลดความขัดแย้งของคนในชาติคิดเป็นร้อยละ 33.48 การดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมคิดเป็นร้อยละ 32.88 และการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในนโยบาย/กิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐคิดเป็นร้อยละ 31.34 แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อยต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภค/บริโภคราคาแพง และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร/ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.9 ร้อยละ 31.94 และร้อยละ 29.21 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการบริหารงานตลอด 3 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.1 ระบุว่าตนเองมีความพึงพอใจในการบริหารงานในช่วงปีแรกมากที่สุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.87 ระบุว่าตนเองมีความพึงพอใจในช่วงปีที่สองมากที่สุด โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 8.37 ระบุว่ามีความพึงพอใจในการบริหารงานในช่วงปีที่สามมากที่สุด อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 23.83 มีความพึงพอใจทั้งสามปีเท่าๆกัน และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.83 ไม่มีความพึงพอใจทั้งสามปีเลย
ในด้านระดับความพึงพอใจต่อการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยรวม และการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.77 มีความพึงพอใจในการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีอยู่ในระดับมาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.22 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.47 มีความพึงพอใจน้อย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.54 ไม่มีความพึงพอใจเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35.01 มีความพึงพอใจต่อการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยรวมอยู่ในระดับมาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.19 พึงพอใจในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.78 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.02 ไม่มีความพึงพอใจเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 34.84 มีความพึงพอใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.4 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.06 มีความพึงพอใจน้อย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.7 ไม่มีความพึงพอใจเลย
และในด้านความรู้สึกต่อการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.93 ระบุว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตนเองไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันมากเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.88 มีความคิดเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำเป็นต้องเพิ่มการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีที่จะบังคับใช้กฎหมาย/มาตรการที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน/การประกอบอาชีพของประชาชนให้มากขึ้น ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว