นวัตกรรม “ขยะแลกภาษี” ไอเดียดี๊ดีของชาวบ้าน 'บาโงฆาดิง’ ปลูกจิตสำนึก-สานฝันตำบลสุขภาวะ ร่วมสร้าง “ปัตตานีเมืองสะอาด”

พฤหัส ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๐:๒๑
"บาโงฆาดิง" เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ที่ในมุมมองของคนภายนอกอาจบอกว่าแถบนี้เป็นพื้นที่มีเรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เขากลับอยู่กันอย่างมีความสุขและเรียบง่าย แถมยังค้นพบเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับสมาชิกชุมชน ที่ถูกขยายผลอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งตำบล 7 หมู่บ้าน กับเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนมองข้ามนั่นก็คือเรื่องของการจัดการ "ขยะ"

จากปัญหาที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ ได้รับการร้องขอ "ถังขยะ" จำนวนมากจากชาวบ้านแทบทุกครัวเรือน ความสงสัยว่าเพราะอะไรชาวบ้านจึงต้องการถังขยะจำนวนมากขนาดนั้นได้ถูกหยิบยกเข้าไปพูดคุยกันในเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชน จนเกิดการชักชวนให้ชาวบ้านบาโงฆาดิงหมู่ที่ 5 มาร่วมกันทำกิจกรรมการ "คัดแยกขยะ" เพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยล้นถังในชุมชน ที่ต่อมาได้พัฒนามาสู่การจัดทำ "โครงการการจัดการขยะในชุมชนบ้านบาโงฆาดิง" ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัด อบต.นาเกตุ และหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่าจากข้อมูลและปัญหาที่ได้พูดคุยกันในเวทีประชาคมหมู่บ้าน ได้เกิดเป็นแนวคิดในการจัดทำโครงการการจัดการขยะในชุมชนขึ้นมา โดยทาง อบต.นาเกตุ ได้ร่วมกับ รพ.สต.นาเกตุ มาให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ รวมถึงการนำขยะเหลือใช้ มาสร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่น การเศษอาหารต่างๆ มาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และเกิดการต่อยอดไปสู่นวัตกรรม "ขยะแลกภาษี" ของชุมชน

"พอได้คุยกันชาวบ้านทุกคนก็ได้ให้ความสำคัญ ต้องการที่จะให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นมา โดยได้มีการจัดทำกติกาชุมชนขึ้นมา 6 ข้อ โดยกำหนดให้ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์เวลาตั้งแต่ 9.00-11.00 น.ให้สมาชิกในชุมชนนำขยะที่คัดแยกแล้วมาขายในราคาที่กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการคัดแยกและขายขยะแล้ว ขยะที่คัดแยกแล้วยังสามารถนำใช้ในการชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย รวมไปถึงนำมาใช้ชำระค่าธรรมเนียมการเก็บขยะของชุมชนได้ ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้าวจะค้างภาษีจำนวนมาก และไม่ต้องการเอาเงินมาจ่ายภาษี แต่ปรากฏว่าหลังจากทำโครงการนี้ชาวบ้านก็จะจ่ายภาษีย้อนหลังทั้งหมดทุกปี จากที่เคยเก็บภาษีในหมู่บ้านนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ตอนนี้ก็เก็บภาษีเพิ่มได้ถึงร้อยละ 60"

นายประสพพร สังข์ทอง ผอ.รพ.สต.นาเกตุ กล่าวเวทีการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในทุกวันศุกร์ เป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่สามารถใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้มาบูรณาการเข้ากับการการทำงานของตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะโดยปกติประชาชนในพื้นที่จะต้องไปประกอบอาชีพต่างๆ อยู่ในสวน หรือนอกพื้นที่บ้าง ซึ่งบางครั้งอาจะพบเจอกันได้ยาก แต่จากกติกาของชุมชนที่นัดหมายและใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนที่มีการละหมาดใหญ่วันศุกร์ในช่วงบ่าย เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำงานในเรื่องต่างๆ กับชาวบ้านได้มากที่สุด

"อย่าง รพ.สต.นาเกตุ ก็จะใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้เข้ามาติดตามตรวจสุขภาพประชาชน คัดกรองความเสี่ยง โรคเบาหวาน ความดัน แล้วก็ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของสุขภาพ บริการวัคซีน ติดามวัคซีนในเด็กที่อาจจะขาดนัด เพราะปกติเวลาที่คนในชุมชนนำขยะมาขายหรือมาจ่ายเป็นภาษีก็มักจะที่จะมีเด็กๆ ติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่มาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนก็ต่างคนต่างนัด แต่ตั้งแต่มีโครงการขึ้นมาการทำงานก็ง่ายขึ้นทุกหน่วยงานสามารถมาดูแลกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ภายในวันเดียวกัน ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีความคุ้นเคยกันมากเกิด ชาวบ้านเองก็เกิดความเข้าใจในโครงการและแผนงานต่างๆ ของภาครัฐที่มากขึ้น"

นายมะรอฮิง สาและ ผู้ใหญ่บ้านบาโงฆาดิงหมู่ 5 เล่าเสริมว่าจากการที่ชาวบ้านได้มารวมตัวกันทุกวันศุกร์เพื่อทำกิจกรรมคัดแยกและซื้อขายขยะมาอย่างสม่ำเสมอนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนคือขยะในชุมชนลดลง ชาวบ้านเองก็มีความรู้ในการจัดการขยะเศษอาหารที่เหลือทิ้ง โดยจะนำเอามารวมกันเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เมื่อทำเสร็จก็จะแบ่งและแจกจ่ายกันกลับไปใช้ในครัวเรือน

"วันนี้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น จากเดิมที่เห็นว่าอะไรที่ไร้ค่าอย่างพวกผักและเศษอาหารก็ทิ้งใส่ลงไปในถังขยะทั้งหมด วันนี้ทุกคนก็รู้ว่าสามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด จากเมื่อก่อนที่ขยะล้นถัง เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีขยะ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เวลาที่นัดกันแทบจะไม่มีขยะมาขายเสียด้วยซ้ำ"

นายดอเลาะ ลาเต๊ะ เลขานายก อบต.นาเกตุ แนวทางการทำงานในพื้นที่ของ อบต.นาเกตุ จะส่งเสริมให้ประชาชนจัดการตัวเองและดูแลตัวเอง อย่างโครงการในเรื่องของการจัดการขยะนี้ก็เช่นกัน เกิดจากการที่ชาวบ้านเขาคิดเองและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง โดยทาง อบต.หรือ รพ.สต. ก็จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องวิชาการและความรู้ต่างๆ

"สิ่งที่ชาวบ้านทำในวันนี้ได้ตอบสนองต่อนโยบายของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะในเรื่องของปัตตานีเมืองสะอาด นอกจากนี้ยังสร้างให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกเคารพในกติกาของชุมชนในเรื่องของการจัดการขยะ ซึ่งผู้นำทางศาสนาเองก็ใช้หลักของศาสนาอิสลามมาบูรณาการกับเรื่องการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนในเรื่องของการคัดแยะขยะอย่างถูกวิธีอีกด้วย เพราะความสะอาดเป็นหลักการสำคัญในศาสนาอิสลาม ที่สอนและเน้นในเรื่องของความสะอาด ทั้งร่างกาย เสื้อผ้า อาหารและอื่นๆ ทั้งของส่วนตัวและสาธารณะ"

นางสาวสากีน๊ะ สะแม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่าความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้ในการจัดการขยะเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจกันทำงานของ "4 เสาหลักของชุมชน" ที่ประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา อปท. และ รพสต. โดยประชาชนมีส่วนร่วม จนสามารถขยายผลการดำเนินงานจาก 1 หมู่บ้านออกไปจนครบทั้ง 7 หมู่บ้าน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร "LINE" ของกลุ่มเครือข่าย อสม ในพื้นที่ในการเล่าเรื่องด้วยภาพและสร้างแรงจูงใจให้กับเพื่อนที่อื่นๆ ให้ใช้วิธีการจัดการขยะเหมือนกับที่ชุมชนบาโงฆาดิง

"ในกลุ่มของ อสม. จะมีการช่วยแชร์ภาพกิจกรรมการคัดแยกขยะ โชว์ภาพตอนขายขยะแล้วได้เงิน แล้วนำเงินมาจ่ายภาษีต่างๆ ลงไปในกลุ่มไลน์ของ อสม. ในพื้นที่ ตัวของผู้นำท้องถิ่นก็จะช่วยแชร์ภาพกิจกรรมดังกล่าวลงไปในกลุ่มไลน์ของเครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ซึ่งภาพความสำเร็จดังกล่าวยังถูกส่งต่อออกไปในระดับอำเภอและจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการนี้ถูกพูดถึงกันมาก ชุมชนอื่นๆ เกิดความตื่นตัวและขอให้ทาง อบต.นาเกตุ ไปทำโครงการเดียวในหมู่บ้านของตนเองด้วย ซึ่งหลังจากทำโครงการไปเพียง 5 เดือน ก็สามารถขยายผลการดำเนินออกไปได้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของตำบลนาเกตุ"

"ผลดีที่เกิดขึ้นคือชุมชนให้การต้อนรับ ชาวบ้านเกิดความตระหนัก เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการเก็บขยะมากขึ้น ตามท้องถนนก็จะไม่มีขยะเหลืออยู่เลย และโครงการนี้ยังก่อให้เกิดกิจกรรมการส่งเสริมปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักจากขยะที่เหลือใช้ นำขยะในครัวเรือนมาหมักอีเอ็มทำหัวเชื้อและแจกจ่ายกันในหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านมีวินัยในเรื่องการดูแลจัดการขยะในชุมชนมากขึ้น มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง และทำให้ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ดำเนินกิจกรรมตรงนี้" นางประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัด อบต.นาเกตุ กล่าวสรุป

นวัตกรรม"ขยะแลกภาษี" นอกจากจะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลง เด็กๆ มีค่าขนม สมาชิกในชุมชนเรียนรู้การคัดแยกขยะ เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ขยะจึงนำมาซึ่งพลังการสร้างสุขภาวะด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทุกๆคน.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version