ประธานกรรมการสลาก กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการสลากที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลสำเร็จแม้มีบ้างที่ยังมีการทำสลากชุดขายเกินราคา แต่สลากปลีกส่วนใหญ่ขายในราคา 80 บาท ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นการดำเนินการในระยะที่ 3 คือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ด้วยการปรับแผนและทิศทางการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ต่อไป โดยจะประกอบไปด้วยหลายส่วน อาทิ โครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลาก, การปรับปรุงรูปแบบสลาก ฉบับละ 80 บาท, การเพิ่มระบบป้องกันการปลอมแปลงสลาก, การเพิ่มความสะดวกในบริการด้านจ่ายรางวัล รวมถึงการศึกษารูปแบบสลากใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาราคาสลากอย่างยั่งยืน
สำหรับการปรับแผนและทิศทางการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในส่วนของการปรับแผนและทิศทางการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อนำสลากมากระจายให้กับผู้ขายจริง/ผู้ค้ารายย่อย ให้มากที่สุด เช่น การนำสลากที่ตัวแทนจำหน่ายไม่มารับ หรือสลากที่ได้จากการยกเลิกสัญญา มาเข้าสู่ระบบซื้อ-จองล่วงหน้า รวมถึงมาตรการกวดขันไม่ให้จำหน่ายสลากเกินราคา ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยชุดตรวจพิเศษ ที่บูรณาการระหว่างทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง หากพบผู้ที่จำหน่ายสลากเกินราคาจะจับกุมและตัดโควตาในทันที ที่ผ่านมา สำนักงานฯได้ทำการยกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายที่ทำผิดสัญญาไปแล้ว จำนวน 2,131 ราย และยกเลิกสิทธิ์ในการทำการซื้อ – จอง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประกาศประกาศสำนักงานฯ จำนวน 483 ราย รวมทั้งสิ้น 2,614 ราย ซึ่งสลากที่ได้คืนจากผู้ที่ถูกตัดโควตาก็จะนำกลับมาเพิ่มเติมให้กับผู้จำหน่ายที่แท้จริง
จากการดำเนินการดังกล่าวมาจากการลงพื้นที่ตามพื้นที่ต่างๆในการสำรวจราคาตลาดสลาก ว่ามีการจำหน่ายเป็นไปตามราคาที่กำหนด พร้อมเก็บข้อมูลตรวจทานว่า การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามข้อเท็จจริง หรือยังมีช่องว่างที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ทำให้สำนักงานได้ทราบข้อมูลจากผู้ขาย ว่าจำนวนสลาก 5 เล่มที่ได้รับยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผู้ขายให้ข้อมูลว่าจำนวน 10 เล่ม เป็นปริมาณค่าเฉลี่ยกลางที่เหมาะสม จึงเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงสลากเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 10 เล่ม ด้วยระบบในการคัดกรองผู้จำหน่ายมากขึ้น จากผู้ตรวจการและเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจพิเศษ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้จำหน่ายที่แท้จริง
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า สำนักงานฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด โดยสรุปส่งเงินรายได้แผ่นดิน ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2558 ถึง 10,486 ล้านบาท อีกทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของสำนักงานฯ เป็นไปตามแผน เนื่องจากมีการเร่งรัดติดตามเป็นประจำทุกเดือน โดยคณะกรรมการบริหารเงินที่คณะกรรมการสลากแต่งตั้งขึ้น และในส่วนของการดำเนินการนโยบายในระยะที่ 3 นั้น สำนักงานฯจะทำการปรับปรุงรูปแบบสลาก จากเดิม ฉบับคู่ 80 บาท (ฉบับละ 40 บาท) เป็นฉบับละ 80 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ป้องกันความสับสน สามารถตรวจสอบได้ง่าย และเป็นการปรับรูปแบบสลากให้มีความทันสมัยมากขึ้น และเพิ่มระบบป้องกันการปลอมแปลงสลาก ด้วยการเพิ่มความคมชัดของลายน้ำบนกระดาษให้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนยิ่งขึ้น เพิ่มระบบบาร์โค้ด 2 มิติ (2D Barcode) ที่สามารถสแกนตรวจสอบสลากได้จากเครื่องอ่านบาร์โค้ด และยังถือเป็นการช่วยตรวจสอบการปลอมแปลงตัวเลขสลากหรือสลากแก้เลขในขั้นต้นได้อีกด้วย สำหรับการบริการด้านการจ่ายรางวัล สำนักงานฯ ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการจ่ายรางวัลสลากผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคารกรุงไทย และที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ซื้อสลากมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเด็นความคืบหน้าในการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ผู้อำนวยการฯ ได้กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานฯได้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และยื่นเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)
ด้านโฆษกคณะกรรมการสลาก ได้กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนของการศึกษารูปแบบสลากใหม่ ว่าในขณะนี้สำนักงานฯอยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบต่าง ๆ จากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โครงสร้าง บริบทของสังคมไทยและวิถีชีวิตของประชาชน ล่าสุดได้ทำการศึกษาสลากของประเทศมาเลเซียและประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจ จำนวนประชากรและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุดซึ่งคาดว่าจะนำผลการศึกษาเผยแพร่ ให้สาธารณะชนรับรู้ในเร็วๆนี้ การศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่และสลากออนไลน์นั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาข้อมูลรอบด้านและพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาผู้ขายสลากเกินราคาเป็นระบบและมีความยั่งยืนต่อไป