นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ในปีนี้ฝนจะมาเร็วกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เกษตรกรบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดเนื้อที่เพาะปลูกข้าวลง ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ก่อนฤดูทำนา เกษตรกรบางส่วนยังปลูกแตงโมและพืชผักในนาข้าวเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยปัจจุบันเกษตรกรเริ่มมีการปรับเปลี่ยนและขยายพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผล และเลี้ยงปลาในพื้นที่นาเพิ่มขึ้น
สศก. ในฐานะหน่วยงานจัดทำและบริการข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าพืชและปศุสัตว์ที่สำคัญมาโดยตลอดเป็นประจำทุกไตรมาส ไตรมาสละ 25 - 30 จังหวัด จังหวัดละ 6 หมู่บ้าน ด้วยการสอบถามข้อมูลทั้งจากผู้นำชุมชน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้รับซื้อ หน่วยงานราชการ ในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละชนิดสินค้าทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบทิศทางของเนื้อที่เพาะปลูก และผลผลิตเมื่อเทียบกับปี ที่ผ่านมา แรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรยังคงปลูกอยู่ หรือขยายพื้นที่ รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น สภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ นโยบายส่งเสริมการผลิตต่างๆ ที่มีผลต่อการผลิต
สำหรับช่วงไตรมาสที่ 2 ทีมสำรวจ สศก. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ได้เริ่มปฏิบัติการลงพื้นที่มาตั้งแต่เดือนเมษายน และพฤษภาคม เป็นการติดตามสถานการณ์การผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญกลุ่มไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ และกลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าว โพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งพืชเศรษฐกิจและผลผลิตต่อไร่ต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องว่าจะมีผลกระทบอื่นจากภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ เกษตรกรและผู้สนใจขอข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร สามารถติดต่อได้ที่ 0 2561 2870 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล [email protected]