? สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ประกอบการนมโรงเรียนและผู้รับจ้างขนส่งนมโรงเรียน 350 รายทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงให้มีความเข้าใจและปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ภาคเรียนที่ 1/2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯและรัฐบาล โดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้เร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2560 ตามแผนพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียน ดังนี้ 1.เกษตรกรโคนมได้รับการดูแล 2.นักเรียนได้ดื่มนมมีคุณภาพดี และ 3.โปร่งใสเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ และมาตรการในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานนมโรงเรียนให้สูงขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยนมโรงเรียนที่ผลิตได้ปริมาณ 1,200-1,300 ตันต่อวัน จะนำไปผลิตให้กับนักเรียน ประมาณ 7.3 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาลให้เข้ามากำกับดูแลโดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การนำส่งถึงโรงเรียน ซึ่งมีระบบการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ฟาร์มจนถึงศูนย์รวบรวมนม และโรงงานผลิต มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างรัดกุม ก่อนส่งต่อไปยังโรงเรียน
สำหรับการติดตามทั้งการขนส่งและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนในแต่ละจังหวัด จะใช้กลไกของรัฐ ดังนี้1.ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ คณะกรรมการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานระดับจังหวัด และมีนายอำเภอ เป็นประธานระดับอำเภอ เป็นการบูรณาการของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ มีการกำหนดหน้าที่ในการจัดทำแผนและติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการคุณภาพนมในโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ในเขตพื้นที่จังหวัด และอำเภอ 2.ระดับกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ Single Command และกรมปศุสัตว์ บูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการเพื่อตรวจติดตามกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
" ในปี 2560 จะมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ใหม่ เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพดีส่งต่อไปยังนักเรียนและเยาวชนให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ในส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ก็จะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่การถูกลดสิทธิ ตัดสิทธิ ยกเลิกสัญญา ดังนั้น จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการและผู้รับจ้างขนส่งนมโรงเรียนได้รับทราบเกี่ยวกับการควบคุมระบบการขนส่งตั้งแต่โรงงานผลิตจนนำส่งมายังโรงเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่วางไว้ โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่นำออกจากโรงงานผลิต จนถึงขนส่งไปยังโรงเรียน โดยเฉพาะนมพาสเจอร์ไรท์ สำหรับนม UHT จะมีการควบคุมมาตรฐานในการเก็บรักษา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างถูกต้อง"นายธีรภัทร กล่าว