มันจะหาดูยากๆ หน่อย! มิวเซียมสยาม ดึง 3 คนดัง เนรมิตนิทรรศการ “ไทยทำ...ทำทำไม” นิทรรศการ 3 ห้องสุดเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมนวัตกรรม "ไทยทำ" ที่คนไทยต้องมาดู

พุธ ๓๑ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๐๔
มิวเซียมสยาม จับมือ 3 คนดัง "ป๊อด โมเดิร์นด็อก" "ทรงกลด บางยี่ขัน" และ "ฮ่องเต้ กนต์ธร" นั่งแท่นภัณฑารักษ์รับเชิญ ร่วมเนรมิตนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ประกอบไปด้วยนิทรรศการ 3 ห้องที่จะถ่ายทอดความเป็นไทยใน 3 มิติ ผ่านนวัตกรรมไทยทำกว่า 50 ชิ้น ได้แก่ ห้อง "ไทยธรรม : มหัศจรรย์ พันลึก" นำเสนอภูมิปัญญาไทยกับมหัศจรรย์ความเชื่อ ห้อง "ไทย(โอ)ท็อป : คาเฟ่ไทย ไทย" นำเสนอภูมิปัญญาไทยกับไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน และห้อง "ไทยเทค : เสียงของไม่จำเป็น" นำเสนอภูมิปัญญาไทยที่ไม่ถูกจดจำ อย่างไรก็ดี "ไทยทำ...ทำทำไม" ถือเป็นนิทรรศการครั้งแรกของมิวเซียมสยามที่ได้เชิญคนดังในหลากหลายวงการ มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อร่วมพัฒนาประเด็นและวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจและเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น

สำหรับนิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 543 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อเข้าได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 413

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในช่วงกลางปี 2560 มิวเซียมสยาม ได้จัดนิทรรศการหมุนเวียนชุด "ไทยทำ...ทำทำไม" ขึ้น โดยมีความพิเศษสุดคือเป็นนิทรรศการครั้งแรกของมิวเซียมสยาม ที่ได้เชิญผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยถึง 3 ท่าน มาร่วมเป็น "ภัณฑารักษ์รับเชิญ" ในการสร้างสรรค์นิทรรศการขึ้นเพื่อพัฒนาประเด็นและวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจและเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยเซเลบฯ ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณป๊อด ธนชัย อุชชิน ร็อคสตาร์ของเมืองไทย หรือที่รู้จักกันในฐานะนักร้องนำของวงโมเดิร์นด็อก คุณก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน นักคิด นักเขียนและอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day และคุณฮ่องเต้ กนต์ธร เตโชฬาร พิธีกรและศิลปินผู้มีใจรักในงานศิลปะ DIY จะหยิบยกนวัตกรรมยี่ห้อไทยแท้ หรือสิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาไทยรวมกว่า 50 ชิ้น มาออกแบบและจัดแสดงใน 3 แนวคิด ตามแนวทางของตนเอง โดยมุ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและรากฐานตัวตนความเป็น "คนไทยช่างประดิษฐ์" ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงยุคปัจจุบัน ผ่าน 3 ห้องนิทรรศการ ได้แก่ ห้อง "ไทยธรรม" ห้อง "ไทยเทค" และห้อง "ไทย(โอ)ท็อป"

นายธนชัย อุชชิน หรือคุณป๊อด นักร้องนำวงโมเดิร์นด็อก กล่าวว่า ห้อง "ไทยธรรม" จะนำเสนอมุมมองที่อัศจรรย์ และน่าสนใจของความคิดแบบไทยๆ ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันเรียบง่าย ที่ไม่เพียงใช้ในการแก้ปัญหาและแบ่งเบาความทุกข์ในชีวิตประจำวัน แต่ยังผสานไว้ด้วยศิลปะ คติ ศรัทธา และความเชื่ออย่าง "มหัศจรรย์ พันลึก" ทำให้ความง่ายๆ อย่างไทย กลายเป็นของพิเศษที่ไม่ธรรมดา อาทิ "ปลัดขิก" สิ่งประดิษฐ์รูปทรงองคชาตปลายเปิดที่ใช้ไล่ผีไม่ให้มาหลอกเด็กๆ "ตุ๊กตาเสียกบาล" ซึ่งถูกใช้เป็นตัวแทนในการรับ บาปเคราะห์ และความโชคร้ายไปแทนผู้เป็นเจ้าของ "ตำราพรหมชาติ" ปัญญาโบราณที่เป็นเสมือนเข็มทิศชีวิตในวันที่สับสน และเป็นที่พักความคิดในยามที่ชีวิตต้องมรสุม

นายทรงกลด บางยี่ขัน นักคิด นักเขียน และอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day กล่าวว่าห้อง "ไทย(โอ)ท็อป" จะแสดงถึงความเป็นไปได้ในการนำภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตร่วมสมัย ผ่านการรังสรรค์ร้านกาแฟเก๋ๆ ในชื่อ "คาเฟ่ไทยไทย" ที่รวบรวมเอาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยมานำเสนออย่างหลากหลาย อาทิ "กาแฟดำ อาข่า อาม่า" กาแฟอาราบิก้าสัญชาติไทยที่ ให้รสชาติเข้มแบบไทยแท้แต่สดชื่น "น้ำวุ้น" นวัตกรรมเครื่องดื่มเย็นชื่นใจดับร้อนจากแดดเมืองไทย "ขนมไทยไทย" ที่ใช้แพ็คเกจจิ้งจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ใบตอง ใบเตย ใบลาน ใบจาก ใบกะพ้อ กระบอกไม่ไผ่ กะลามะพร้าว ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการนำรากไทยมาคลี่คลายให้เห็นลู่ทางการเติบโตต่อไปในอนาคต

นายกนต์ธร เตโชฬาร พิธีกรและศิลปินผู้มีใจรักในงานศิลปะ DIY กล่าวว่า ห้อง "ไทยเทค" จะแสดงกลไกของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยผ่อนแรงในวิถีกสิกรรมที่ทำให้คนไทยทำงานด้วยความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัจจุบันกำลังถูกมองข้ามและค่อยๆ ถูกปล่อยให้เลือนหายไปตามกาลเวลา โดยนำเทคโนโลยีแบบไทยๆ ที่หาดูยากในปัจจุบัน เช่น" ครกกระเดื่อง" อุปกรณ์ทุ่นแรงแบบบ้านๆ ที่ใช้ในการตำข้าวขับเคลื่อนด้วยแรงจากเท้าเป็นหลัก "เครื่องสีฝัด" สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ช่วยในการแยกแกลบ เศษฟาง และข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก "เกราะลอ" อุปกรณ์ที่ตีแล้วมีเสียงดังกังวานใช้สำหรับไล่ฝูงนกฝูงกาที่มากินข้าวในไร่นา หรือบางครั้งก็ใช้ตีบอกเหตุ ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะแนวจัดวางภายใต้แนวคิด "เสียงของไม่จำเป็น"

ทั้งนี้ มิวเซียมสยามมุ่งหวังให้นิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" สะท้อนให้คนไทยได้เห็นว่าสังคมไทยตั้งแต่อดีตมาแล้วเป็นสังคมที่ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง สิ่งของเครื่องใช้รอบตัวไม่ว่าของที่อยู่ในครัว ในเรือนนอน ในเรือกสวนไร่นา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งของที่เราประดิษฐ์ใช้กันเองในครัวเรือนแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเราทุกคนคือ "ช่าง" เราพัฒนาและต่อยอดความรู้หรือภูมิปัญญาที่สั่งสมมาในการคิดประดิษฐ์สิ่งของเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนหรือแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากมายก็ตาม แต่ของ "ไทยทำ" กลับแสดงให้เห็นว่าคนไทยเราอยู่อาศัยกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข และเก่งนักในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ตลอดจนอาจกล่าวได้ว่าประเทศเราเต็มไปด้วย "คนไทยช่างประดิษฐ์" อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี มิวเซียมสยามเชื่อว่าผู้ชมนิทรรศการฯ จะได้พบคำตอบว่าทำไม...ไทยทำ พร้อมต่อยอดความเป็น "คนไทยช่างประดิษฐ์" ที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในตัวเราทุกคนไปสู่การพัฒนาชีวิต และสังคมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป นายราเมศ กล่าวสรุป

ล่าสุด มิวเซียมสยามได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการ "ไทยทำ...ทำทำไม" ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยนิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียนกรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.orgทั้งนี้สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อเข้าได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 413

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ