นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า มั่นใจว่าการแยกกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติเจ้าของโครงการ และผู้ร่วมลงทุนหรือผู้สนับสนุนโครงการออกจากกัน ในขั้นตอนแรกของการพิจารณา และตรวจสอบคุณสมบัติหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่เข้ายื่นเรื่องเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในโครงการ จะทำให้ระยะเวลาและขั้นตอนการพิจารณามีความรวดเร็วมากขึ้น ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อกำหนดและระยะเวลาการพัฒนาพลังงานด้านอื่นๆ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าขอประเทศไทย หรือแผนPDP 2015 อีกด้วย
"ที่ผ่านมาในเฟสแรก เราเปิดให้ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการและผู้สนับสนุนโครงการ พร้อมกันในคราวเดียว ทำให้ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน แต่ในเฟสสอง เราจะเปิดให้ยื่นเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะเจ้าของโครงการเป็นอันดับแรก และให้เข้าสู่กระบวนการจับสลากเพื่อรับสิทธิ์และ กกพ. จะทำการจองสายป้อนเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (Feeder) ให้ ก่อนที่จะหาผู้ร่วมลงทุนของหน่วยงานราชการ หรือผู้สนับสนุนโครงการของสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อตรวจสอบในรายละเอียดของคุณสมบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะมีผลให้พิจารณาได้เร็วขึ้น"นายวีระพล กล่าว
กกพ. ได้กำหนดระยะเวลาให้หน่วยราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร เข้ายื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ได้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2560 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ บริเวณอเนกประสงค์ ชั้น G (บริเวณหน้าร้านภูฟ้า) อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท กรุงเทพฯ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติ และประกาศผลผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 เพื่อเข้าสู่กระบวนการจับสลากในวันที่ 26 มิถุนายน 2560
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์ม เฟสที่ 2 จำนวน 219 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นส่วนราชการ ยื่นขอได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมจำนวน 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตรรวม 119 เมกะวัตต์ แยกเป็นภาคเหนือ 19 เมกะวัตต์ ตะวันออกเฉียงเหนือ 50 เมกะวัตต์ และภาคใต้จำนวน 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงินลงทุนใหม่อีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบเวลาที่พร้อมจะจ่ายกระแสไฟฟ้า เชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ซึ่งคาดว่า จะมีผู้มายื่นเป็นเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1,500 ราย
"ในการกำหนดการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น สำหรับส่วนราชการเข้ายื่นเพื่อเป็นเจ้าของโครงการ ในเบื้องต้น จะต้องเป็นส่วนราชการที่รัฐจัดตั้งขึ้นและวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตไฟฟ้าตามการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนสหกรณ์ภาคการเกษตรจะต้องมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือหากเป็นพื้นที่เช่าจะต้องเช่าจากสมาชิกสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุ หรือที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือส.ป.ก. 4-01 อย่างไรก็ตาม หากต้องการทราบรายละเอียดในคำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของสำนักที่www.erc.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-207-3502 หรือ 1204" นายวีระพล กล่าวเสริม