นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดนก ที่มักระบาดในช่วงหน้าหนาว ติดต่อกันได้จากคนสู่คน เพียงสัมผัสสารคัดหลั่ง ซึ่งผู้ปกครองต้องระมัดระวังให้มาก เมื่อเด็กป่วยเป็นไข้ควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากเชื้อไข้หวัดนกเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัดและไข้หวัด อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ และไซนัสอักเสบ ซึ่งแพทย์จะรักษาไปตามอาการ แบบประคับประคอง ให้นอนหลับพักผ่อนมากๆ สั่งยาให้ตามอาการที่ปรากฏ ทางที่ดีควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ดีและป้องกันไซนัสอักเสบ ในช่วงที่มีการระบาด ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายด้วยกระดาษชำระ หรือแขนเสื้อ (กรณีที่หากระดาษชำระหรือผ้าเช็ดหน้าไม่ได้) ไม่ควรใช้มือป้องปาก หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
โรคฮิตลำดับถัดมา คือ มือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีหลายชนิด ทำให้มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่เพดานปาก มือ และเท้า มีไข้สูง ระบาดหนักในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อได้ง่ายด้วยการไอหรือจาม หยิบสิ่งของปนเปืนเชื้อโรคเข้าปาก หรือสัมผัสอุจจาระของเด็กที่ป่วย แพทย์จะรักษาตามอาการ ระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งโรคดังกล่าว หากพบว่ามีเด็กในสถานศึกษากำลังป่วย มักประกาศให้หยุดการเรียนการสอน โดยหายได้ภายใน 7-10 วัน
ต่อมาเป็น โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) โดยมียุงลายเป็นพาหะ กัดเด็กที่มีเชื้อและไปกัดเด็กอีกคนต่อเป็นการแพร่เชื้อ 90% ไม่แสดงอาการ ส่วนอีก 10% นั้น เด็กที่ป่วยจะมีไข้สูง 5-7 วัน เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออก ตับโต กดเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ เมื่อแพทย์ตรวจจะพบเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ตัวต่อไมโครลิตร มีการรั่วของพลาสมา ส่งผลให้เลือดเข้มข้น โดยแพทย์ไม่สามารถให้ยาลดไข้ได้ เนื่องจากมีผลต่อให้เกล็ดเลือดผิดปกติ การรักษาเน้นเฝ้าระวังอย่าให้เกิดภาวะช็อค ให้น้ำเกลือ ให้เลือดเมื่อมีเลือดออก
สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก นพ. ชัยพฤกษ์ แนะนำให้ผู้ปกครองกำจัดแหล่งที่เพาะพันธุ์ยุงลายด้วยการใส่ทรายอะเบต รับบริการจากหน่วยงานรัฐพ่นยากำจัดยุงลาย และคอยระวังไม่ให้เด็กถูกยุงกัด