ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบมีผู้ป่วยตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่พบมีผู้ป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก มากที่สุดคือช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดภาคเรียน โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปทางปากโดยตรงจากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลหรืออุจาระของผู้ป่วย อาการเริ่มด้วยไข้ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปากและเบื่ออาหาร เนื่องจากมีแผลอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม เกิดผื่นแดง ซึ่งมักไม่คันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและอาจจะพบที่ก้น หรือหัวเข่าได้ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง และแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ควรการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลล้างมือทุกครั้งก่อน-หลัง รับประทานอาหารและหลังขับถ่าย การเล่นของเล่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ตัดเล็บให้สั้น ดูแลสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น กำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้และของเล่นต่างๆ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในชุมชนในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่นๆ
โรคมือ เท้า ปากยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะ จึงใช้การรักษาเพื่อบรรเทาต่างๆ เช่น การให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็คตัวลดไข้ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาการอ่อนๆ ย่อยง่ายรสไม่จัด ดื่มน้ำ นม หรือน้ำหวาน และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการไม่รุนแรงมักป่วยนาน 7-10 วัน และหายได้เอง บางรายต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นโรคมือ เท้า ปาก ชนิดที่รุนแรง เช่น มีไข้สูง ซึม อาเจียน หอบเหนื่อย ต้องรีบไปพบแพทย์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโรคมือ เท้า ปาก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา พบว่าปี 2560 ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤกษาคม 2556 พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้วจำนวน 1,064 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา จำนวน 390 ราย รองลงมาคือจังหวัดตรัง จำนวน 194 ราย