ดร.มุมตาส มีระมาน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล ผู้เสนอการอบรมจัดทำข้อมูลชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เมื่อเร็วๆนี้ เปิดเผยว่า เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ตัวแทนชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลระดับชุมชนในพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ปากบารา จ.สตูล เพื่อกำหนดแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดภายในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ผลกระทบจากการเกิดสึนามิ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่าจากประเทศอินโดนิเซีย นอกจากนั้น ยังมีภัยจากดินถล่ม ถ้ำถล่ม หลุมยุบ ถ้ำยุบ น้ำท่วมและภาวะแล้ง เป็นต้น วิทยาลัยนวัตกรรมฯ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการบริการวิชาการ เพื่อให้ชุมชนได้ประเมินศักยภาพในการรับปัญหา สามารถวางแผนเพื่อปรับตัวและป้องกันบรรเทากรณีเกิดผลกระทบจากภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
ดร.มุมตาส กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยจัดอยู่ในพื้นที่เปราะบางของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสูง จากการสำรวจพบว่าประชากรไทยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยมีจำนวนมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วม 135 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) พบว่าแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภัยพิบัติและการบริหารวิกฤติในภาวะฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลก และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยกล่าวถึงบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล เพื่อรองรับภัยพิบัติและการศึกษาวิจัย สร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงานให้กับนักศึกษาเยาวชนและประชาชนทุกระดับ