สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปีพ.ศ. 2560 ในหัวข้อ "เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change" เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแนะแนวทางการใช้พลังงานและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ ควอเทียร์ วอเตอร์การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์ โดยมีนางหลุยซ่า ราเกร์ รักษาการหัวหน้า คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชเตฟาน เฮลมิง ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน
นางหลุยซ่า ราเกร์ รักษาการหัวหน้า คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ข้อตกลงปารีสนับเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่งผลให้มีศักยภาพในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรักษาอนาคตของเราและของโลก การเปลี่ยนแปลงสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน สหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษอย่างน้อยร้อยละ 40 ภายในปีค.ศ 2030 (พ.ศ. 2573) จากระดับของช่วงปีค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) กรอบด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) กำหนดเป้าหมายสำคัญสามประการ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนขึ้นร้อยละ 27 และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังเตรียมออกกฎหมายที่จะช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษในทุกภาคส่วนทางด้านเศรษฐกิจและกำลังให้ความสำคัญในเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานไว้เป็นอันดับแรก ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อขจัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ"
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า "ในระยะสั้น กระทรวงคมนาคมมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน โดยกลยุทธ์ที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมคือ การส่งเสริมการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน สำหรับในระยะยาว กระทรวงฯ ได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อให้เกิดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน หากการดำเนินงานภายใต้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ นี้ประสบความสำเร็จ ภายในปี พ.ศ. 2579 ภาคการขนส่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 20 จากปัจจุบันที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 27 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วประเทศ และลดการใช้พลังงานลงเหลือร้อยละ 15 จากปัจจุบันที่ใช้พลังงานประมาณร้อยละ 38"
นายชเตฟาน เฮลมิง ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่ GIZ เล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมกันแก้ไขและลดผลกระทบ GIZ มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ ในภูมิภาค ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ GIZ ได้ดำเนินโครงการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการฯ ได้จัดทำมาตรฐานการประหยัดน้ำมันสำหรับรถบรรทุกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันนำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศบริเวณท้องถนน"
"ปัจจุบัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณร้อยละ 30 และมาจากกิจกรรมต่างๆ ของประชากรทั่วโลกประมาณร้อยละ 23 ดังนั้นจึงมีข้อตกลงในระดับนานาชาติเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปีพ.ศ. 2593 กิจกรรมในวันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สหภาพยุโรป (EU) กระทรวงคมนาคมและ GIZ พยายามช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถผลักดันให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ร่วมกันลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่เพียงวันนี้" นายชเตฟาน กล่าวเสริม
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยทอล์คโชว์เรื่อง "โลกร้อน...ทราบแล้วเปลี่ยน" โดยมีนายเจอโรม ปงส์ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายทรงกลด บางยี่ขัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Cloud & Ground และบรรณาธิการบริหารเวบไซต์ The Cloud ให้เกียรติเป็นวิทยากรมาร่วมนำเสนอแนวทางสนับสนุนและวิธีปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายในกิจกรรม "แชร์ไอเดียรักษ์โลกในแบบของคุณ - Climate Change, We Change" เพื่อรับรางวัล โดยมีบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS 1 ปี เป็นรางวัลสูงสุด เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดแสดง Virtual Reality (VR) ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบ 360 องศา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองเล่นเสมือนเดินทางโดยรถยนต์ เรือและรถไฟฟ้าได้จริง เพื่อเปรียบเทียบว่าการเดินทางแบบใดประหยัดเวลาและพลังงานได้ดีที่สุด กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงการเดินทางที่สะดวกและลดมลพิษ อีกทั้งยังมีการนำโปสเตอร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการจัดเวิร์คชอป DIY จากเศษวัสดุเหลือใช้ อาทิ การนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเป็นกระเป๋าใส่เหรียญ และปิดท้ายด้วยการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ที่มาช่วยสร้างความสนุกสนาน บันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ