นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงานสัมมนา e-Trade Facilitation "The New Change To e-Tax Invoice" ว่า เอ็ตด้าร่วมกับกรมสรรพากรกำหนดมาตรฐาน "อี-แท็กซ์ อินวอยซ์" (e-Tax Invoice) หรือการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็นแผนงานสำคัญตามภารกิจระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารดิจิทัล (Digital Documents)
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ และเพื่อไม่ให้คู่ค้ายกเป็นข้อ กีดกันทางการค้าได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอี-แท็กซ์ อินวอยซ์ เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกสินค้าและบริการต่าง ๆ
นางจีราวรรณ ระบุว่า ทั้งเอ็ตด้าและกรมสรรพากรมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีในรูปใหม่ (อี-แท็กซ์ อินวอยซ์) เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนด้านเอกสารให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ต้นทุนการผลิตและการจัดเก็บเอกสาร อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
"เป้าหมายของเราคือ ผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้รับความสะดวกมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปัจจัยให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในระยะยาว"
นางสาวนงพงา บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร เผยว่า กรมสรรพากรดำเนินการจัดทำมาตรฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับเอ็ตด้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เริ่มเปิดใช้ระบบ "อี-แท็กซ์ อินวอยซ์ บายอีเมล" (e-Tax Invoice by Email) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถยื่นขอส่งใบกำกับภาษีผ่านทางอีเมลได้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย และส่งให้กรมสรรพากรตรววจสอบอัตโนมัติผ่านทางอีเมล
อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มศึกษากฎหมาย ระเบียบ และข้อเสนอแนะมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบของระบบงานและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของกิจการ จัดเตรียมใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และขออนุมัติจัดทำตามแบบ ก.อ.01 (e-Tax Invoice by Email) หรือแบบ บ.อ. 01 (e-Tax Invoice & e-Receipt) ซึ่งสามารถยื่นคำขอใช้ระบบดังกล่าวได้ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
"หน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากหน่วยงานกำกับดูแลสู่การเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งสำหรับเป้าหมายของกรมสรรพากรนั้นต้องการให้เกิดการบูรณาการระบบด้วยความรวดเร็ว มีมาตรฐาน มั่นคงปลอดภัย เชื่อมโยงข้อมูลได้"
ด้านนางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ นักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญ กรมสรรพากร เผยว่า กระบวนการพัฒนาระบบอี-แท็กซ์ อินวอยซ์ ขณะนี้ดำเนินการในด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว รอเสนอให้ผู้มีอำนาจลงนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ โดยผู้ประกอบการจะสามารถยื่นขอลายเซ็นดิจิทัลสำหรับใช้ยืนยันตัวบุคคลในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จากตัวแทนที่ได้รับอนุญาตให้การออกใบรับรอง ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 1 รายคือ บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด และปรับปรุงระบบสารสนเทศภายในให้รองรับตามข้อเสนอแนะมาตรฐาน โดยตามระเบียบใหม่ผู้ประกอบการทุกรายมีสิทธิ์จะขอออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
"ระเบียบฉบับนี้ไม่ใช่การบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องออกอี-แท็กซ์ ทั้งหมด แต่เป็นการอนุญาตให้ทุกธุรกิจทุกขนาดสามารถทำได้ แม้บริษัทจะไม่มีระบบพร้อมเหมือนบริษัทใหญ่ โดยระหว่างนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการ"
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการให้เอ็ตด้าช่วยพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการออกใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถใช้บริการส่งอี-แท็กซ์ให้กับกรมสรรพากร ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีใบกำกับภาษีต้องส่งให้สรรพากรอย่างน้อย 5 แสนฉบับต่อเดือน สามารถเลือกใช้อี-แท็กซ์ แบบโฮสต์ทูโฮสต์ ซึ่งเป็นการปลั๊กอินระบบของบริษัท เพื่อส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที รวมทั้งช่วยประสานงานกับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศเพื่อพัฒนาและเตรียม พร้อมซอฟต์แวร์รองรับอี-แท็กซ์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถใช้ระบบได้ราบรื่นและลดภาระต้นทุนระบบให้กับผู้ประกอบการ
ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักวิจัยและพัฒนา และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักความมั่นคงปลอดภัย ภายใต้เอ็ตด้า เสริมว่า เอ็ตด้ายังจัดทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางการสร้างใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้บริการประทับรับรองเวลา (Timestamp) สำหรับการยื่นอี-แท็กซ์ให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว และเริ่มทดสอบการให้บริการกับเอกชนบางราย ตลอดจนพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างเอกสาร "พีดีเอฟ/เอ-3" ซึ่งเป็นรูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานของกรมสรรพากร ให้ใช้งานได้กับซอฟต์แวร์ระบบเปิด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้ฟรีได้ในอนาคต
นายโอฬาร วัฒนาสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมทดสอบระบบกับกรมสรรพากร และเป็นผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว เนื่องจากได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทั้งไอเอสโอ 27001 และมาตรฐานเว็บทรัสต์ ที่สามารถให้บริการได้เทียบเท่ามาตรฐานสากล "ภาพรวมการใช้บริการอี-แท็กซ์ ที่เริ่มมากว่า 4 ปี ผู้ทำจะต้องมีระบบลงลายมือชื่อโดยมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และต้องจัดการระบบออกใบกำกับส่งให้คู่ค้าและสรรพากรให้เป็นไปตามมาตรฐาน"