“อาคารศาลาไทย” ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการ หลังสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นประเทศแรกบนเวที Astana Expo 2017

จันทร์ ๑๒ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๕:๐๘
เปิดฉากงาน Astana Expo 2017 อย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2560 ประเทศไทย โชว์ศักยภาพเหนือต่างชาติก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นประเทศแรก ตั้งเป้าขึ้นแท่นไฮไลท์สำคัญ สุดของงาน พร้อมได้รับเลือกเป็นพาวิลเลียนหลักต้อนรับสื่อมวลชนทั่วโลก มั่นใจอาคารศาลาไทย ติดอันดับพาวิลเลียนที่มีผู้เข้าชมสูงสุด

(10 มิ.ย.60) พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดงานนิทรรศการโลก Astana Expo 2017 หรือ งาน International Recognized Exhibition งานมหกรรมนานาชาติของมวลมนุษยชาติ ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก "พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)" มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 115 ประเทศ และกว่า 20 องค์กรระหว่างประเทศบนพื้นที่ 1,740,000 ตารางเมตร (1,087.5ไร่) ซึ่ง "อาคารศาลาไทย" (Thailand pavilion) ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เป็นประเทศแรก พร้อมเปิดให้นานาชาติเข้าร่วมชมเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มั่นใจว่าตลอดการจัดงาน 3 เดือนระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 อาคารศาลาไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนยอดนิยม และมีผู้เข้าร่วมชมจากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

การเข้าร่วมงานนิทรรศการโลก Astana Expo 2017 ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ใช้เวทีแสดงออกถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยต่อทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรม การนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐคาซัคสถานและประเทศในแถบ CIS พร้อมกันนี้ยังเป็นเผยแพร่ให้เห็นถึงนโยบายด้านพลังงานทดแทนของไทยต่อนานาชาติให้เห็นถึงผลงานการพัฒนาพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย การใช้และการผลิตพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับราคาสินค้าทางการเกษตรและเกิดการพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของชุมชน

นอกจากนี้ยังสอดรับการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในที่ประชุม COP21 ที่กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2558 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยไทยจะจัดทำแผนปฏิบัติการณ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแผนการพัฒนาพลังงานของไทย หรือ PDP 2015 ได้กำหนดที่จะให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่พลังงานมาจากฟอสซิล (Fossil) ถึง 30% ภายในปี2579 นับว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อเจตนารมณ์ของโลกอย่างแท้จริง

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "อาคารศาลาไทย" (Thailand Pavilion) ตั้งอยู่ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 974.67 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดง นิทรรศการชั้น 1 ขนาด 740.3ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 234.37 เมตร ซึ่งในปีนี้สร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด "การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)" เพื่อแสดงศักยภาพอันโดดเด่นในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทน

การนำเสนอจะใช้รูปแบบ"EDUTAINMENT"หรือการเรียนรู้ ควบคู่ความสนุกผ่าน 3 ห้องนิทรรศการหลักในชั้นที่ 1 ได้แก่ นิทรรศการห้องที่ 1: Our Ways, Our Thai สัมผัสวิถีความเป็นไทย เอกลักษณ์ความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรม ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน นำเสนอในรูปแบบของ Live Exhibition ควบคู่กับการจัดแสดง และสาธิตทางวัฒนธรรมไทย ที่จะมีการสลับผลัดเปลี่ยนการแสดง ตลอดระยะเวลาการจัดงาน นิทรรศการห้องที่ 2 :Farming the Future Energy เป็นห้องสรุปเรื่องราวแนวคิดของ อาคารศาลาไทยในรูปแบบเทคนิค 4D ภาพยนตร์ 3 มิติที่จะบอกเล่าเรื่องราวพลังงานของไทย และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ผู้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย" โดยภาพยนตร์นี้จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในห้องทดลองสุดมหัศจรรย์ที่จะเป็นจุดกำเนิดของพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งจะผนวกกับ 1 มิติเพลิดเพลินไปกับหุ่นยนต์ Animatronic น้อง'พลัง' และนิทรรศการห้องที่ 3 : Energy Creation Lab เป็นการนำเสนอพลังงานชีวภาพ และชีวมวลจากพลังงาน 9 ชนิด ประกอบด้วย พลังงานจากพืชพลังงานและมูลสัตว์/น้ำเสีย ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันในรูปแบบ Interactive Exhibition ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีการสาธิต และจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมจากท้องถิ่นไทย การท่องเที่ยว และข้อมูลการค้าการลงทุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมในงาน

สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการชั้นที่ 2 เปิดให้ผู้เข้าชมเลือกซื้อสินค้า อาหารไทย เครื่องดื่ม และทดลองรับนวดแผนไทย พร้อมกันนี้ยังเปิดพื้นที่สำหรับภาคธุรกิจไทยผ่านการจับคู่ธุรกิจ Business Matching และ Investment Clinic ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะนักธุรกิจจากไทย จำนวน 20 ราย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารฮาลาล ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักสังคีตกรมศิลปากร และคณะ นาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์) นำการแสดงทางวัฒนธรรมไปร่วมโชว์บนเวทีกลาง จำนวน 26 ชุด การแสดง ได้แก่ การแสดงโขน ตอน พระรามรบทศกัณฑ์, การแสดงดาบ 2 มือ, การรำมโนราห์ การฟ้อนต่างๆ เป็นต้น พร้อมทั้งการสาธิตทำเครื่องแต่งกายและนุ่งหุ่มแบบไทย การสาธิตหุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็ก เป็นต้น ขณะที่กรมการพัฒนาชุมชนจัดให้มีการสาธิตหัถกรรมไทยและการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ (OTOP), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดให้มีการสาธิตการเพ้นท์ร่ม การแกะสลักผลไม้ และการนวดแผนไทย เป็นต้น ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมภูมิใจกับไทยแลนด์พาวิลเลียนผ่านwww.thailandpavilion2017.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ