ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร ให้แก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ ACAP ที่ระดับ "BB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทที่ยังเป็นธุรกิจเริ่มต้นใหม่ รวมทั้งสถานะของงบดุลที่ยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนระดับการก่อหนี้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวจากการให้สินเชื่อแก่ผู้กู้เพียงไม่กี่รายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากโอกาสที่ดีทางธุรกิจเนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีความต้องการสินเชื่อระยะสั้นอยู่มาก ทั้งนี้ บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและดำรงไว้ซึ่งผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจต่อไป
บริษัทเอเชีย แคปปิตอล ก่อตั้งในปี 2541 ในชื่อเดิมว่า บริษัท เอเชี่ยน แคปปิตอล แอ๊ดไวเซอร์ส จำกัด ต่อมาในปี 2556 บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในปี 2548 และต่อมาในปี 2558 นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทและดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จากนั้นบริษัทจึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่คือธุรกิจให้สินเชื่อระยะสั้น ในปี 2559 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 152 ล้านบาทและมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือครอบครัวตระกูลสุขเจริญไกรศรีซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 18%
ในฐานะที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ บริษัทจึงมีผลการดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาที่สั้น อีกทั้งยังมีสถานะงบดุลที่ยังไม่แข็งแกร่ง มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภายนอกที่ยังไม่หลากหลาย และมีสัดส่วนการกู้ยืมที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 ดังนั้น ความสามารถในการสร้างกำไรที่สม่ำเสมอจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทในระยะต่อไป
ในปี 2558 บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจหลักประเภทใหม่โดยการให้สินเชื่อระยะสั้นแก่ผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสินเชื่อดังกล่าวอยู่ในรูปตั๋วแลกเงินและเงินกู้ระยะสั้น บริษัทยังให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งและดำเนินธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า หรือ Call Center ผ่าน บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดอีกด้วย ทั้งนี้ มูลค่าสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 1,039 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 4,110 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 290% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโต 4.54% หรือคิดเป็น 4,296 ล้านบาทจากสิ้นปี 2559 ซึ่ง 60% ของสินเชื่อคงค้างนี้เป็นเงินให้กู้ยืมระยะสั้นและที่เหลือเป็นตั๋วแลกเงิน
นับตั้งแต่เริ่มให้บริการสินเชื่อระยะสั้นในปี 2558 บริษัทยังไม่มีรายงานสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ทั้งนี้ นโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาการดำเนินการที่สั้นและการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อคงค้าง บริษัทจึงยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการสินเชื่อคงค้างที่จะขยายตัวมากขึ้นและดำรงคุณภาพสินเชื่อไว้ในระดับที่ยอมรับได้อย่างสม่ำเสมอ
หลังจากเริ่มธุรกิจหลักประเภทใหม่ดังกล่าว ผลประกอบการของบริษัทก็เริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2559 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 212 ล้านบาทในปี 2559 เทียบกับผลขาดทุนสุทธิที่ 25 ล้านบาทในปี 2558 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ในปี 2559 จาก -2.7% ในปี 2558 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทรายงานกำไรสุทธิที่ 74 ล้านบาทและมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วเท่ากับ 6.4%
ในส่วนของการแสวงหาเงินทุนนั้น บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงและมีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด ในปัจจุบันแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยตั๋วแลกเงินระยะสั้นและหุ้นกู้ระยะยาวซึ่งขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มเล็กๆ ผ่านการเสนอขายในวงจำกัด ทริสเรทติ้ง เห็นว่าบริษัทควรจะกระจายแหล่งเงินทุนจากภายนอกให้หลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัท
การเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมในปี 2559 ทำให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 21.2% ในปี 2559 จาก 59% ในปี 2558 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 เท่าในปี 2559 จาก 0.7 เท่าในปี 2558 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 22% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็น 3.5 เท่า สำหรับบริษัทที่เริ่มธุรกิจใหม่นั้น ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่าบริษัทจะดำรงฐานทุนในระดับที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงในช่วงเวลาที่มีการขยายตัวทางธุรกิจ
ดังนั้นประเมินแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจะไม่เสื่อมถอยลงไปอย่างมีนัยสำคัญจนถึงระดับที่จะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะกลางจากประวัติการดำเนินงานอันสั้นของบริษัทโดยบริษัทยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ถึงความมีเสถียรภาพของสถานะทางธุรกิจและการเงินซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเกื้อหนุนความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนที่แข็งแกร่งบริษัทอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนของบริษัท