กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร วิจัยทดสอบบล็อกประสาน วว. เชิงวิศวกรรม หวังพัฒนาประสบการณ์ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาบล็อกประสาน วว. สู่การใช้งานมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับการใช้งานที่แท้จริง ระบุอุตสาหกรรมผลิตบล็อกประสานเติบโตต่อเนื่อง โรงงานผลิตผุดกระจายทั่วทุกภูมิภาคกว่า 500 โรงงาน
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการงานวิจัย การทดสอบและพัฒนาบล็อกประสาน วว. ในเชิงวิศวกรรมระหว่าง วว. กับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครว่า โครงการฯ นี้มีกรอบความร่วมมือ 2 ปี โดยจะครอบคลุมทั้งทางด้านการพัฒนาข้อมูลพื้นฐาน การวิจัย การบริการทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิทยาการทางด้านวิศวกรรมโครงสร้างและด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนารูปแบบการใช้บล็อกประสานให้แพร่หลาย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาให้ได้ข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้ เพื่อรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเติบโตของผู้ประกอบการผลิตบล็อกประสานอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตบล็อกประสานกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยประมาณ 550 โรงงาน มีบล็อกประสานจำหน่ายในท้องตลาดประมาณ 75 ล้านก้อนหรือประมาณ 1.87 ล้านตารางเมตร ทำให้ปริมาณการก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสานเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทั้งบ้านเดี่ยว โครงการจัดสรร รีสอร์ท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น
ทั้งนี้ วว. ได้ให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาบล็อกประสานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป็นเป้าหมายในการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับบล็อกประสานไว้อย่างน้อย 4 มาตรฐาน รวมทั้งจะพยายามผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติ (code) สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างด้วยบล็อกประสาน (แผนดำเนินงานปี 2549-2553) การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกประสาน เป็นต้น
“วว. มีความภาคภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือครั้งนี้ เราได้ค้นคว้าวิจัยบล็อกประสานมาตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบันบล็อกประสานได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จึงมีธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างบล็อกประสานเกิดขึ้นเป็นลำดับทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การทดลองทดสอบเป็นสิ่งสำคัญในการวิจัยและพัฒนา ณ เวลานี้ การศึกษาวิจัยในเชิงวิศวกรรมของเทคโนโลยีบล็อกประสาน จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยแผนการดำเนินงานหลักภายใต้โครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การทดสอบบล็อกประสานในรูปแบบขององค์อาคารที่หลากหลาย เช่น เสา คาน ผนังรับแรงภายใต้น้ำหนักบรรทุกแบบต่างๆ เป็นต้น คาดว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาเป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต
วว. กำลังก้าวสู่การพัฒนาเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเกื้อกูลสนับสนุนร่วมแรงร่วมใจซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาวิทยาการก่อสร้างบล็อกประสานในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งเทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสาน วว. ในเชิงวิศวกรรมที่มีมาตรฐานและสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจต่อไป” ดร.นงลักษณ์กล่าว
บล็อกประสาน วว. เป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นของไทยคือ ดินลูกรัง การก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสานเป็นการก่อสร้างในระบบผนังรับน้ำหนัก (Load Bearing Wall) ซึ่งเป็นระบบการก่อสร้างที่ช่างไทยยังไม่คุ้นเคย อีกทั้งการออกแบบและการก่อสร้างด้วยระบบผนังรับน้ำหนัก ไม่เคยมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ด้วยข้อเท็จจริงนี้ จึงอาจจะเป็นอุปสรรคในการถ่ายทอดเทคโนโลยีบล็อกประสานในอนาคต และยากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกประสานในอนาคตและยากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกประสานในเชิงวิศวกรรมโดยรวม ซึ่งจะส่งผลถึงการยอมรับของสถาปนิก/วิศวกรที่เป็นผู้ประกอบการวิชาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
วว. เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและพัฒนาประสบการณ์ในกระบวนการพัฒนาวิจัยบล็อกประสานให้ได้มาตรฐาน สากลแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านการศึกษาและวิชาการร่วมกัน ตลอดจนก่อให้ เกิดการรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบล็อกประสานผ่านเครือข่ายและสื่อต่างๆ อันจะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบล็อกประสาน วว. และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย มีความถูกต้อง ปลอดภัยและยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบล็อกประสาน วว. ได้ที่ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชนบท วว. เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-1121 - 30 ต่อ 4101- 4104 ในวันเวลาราชการ