นายวีรชัย รัตนบานชื่น ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่เนื้อ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการมาตรฐานอาหาร ซีพีเอฟ เป็นการปฏิบัติตามกรอบและทิศทางการดำเนินงานให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้นโยบายคุณภาพซีพีเอฟ (CPF Quality Policy) เพื่อสร้างและกำหนดมาตรฐานตลอดห่วงโซ่คุณค่าในธุรกิจไก่เนื้อแบบครบวงจรของบริษัท ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ โรงเพาะฟัก ฟาร์ม โรงชำแหละ และโรงงานแปรรูปอาหาร ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรและส่งเสริมให้บริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อออกแบบและผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรฐานอาหาร ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับมาตรฐานที่จำเป็น 2 ด้าน ตามนโยบายคุณภาพซีพีเอฟ คือ การปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่จำเป็นต้องมีในอุตสาหกรรมอาหาร และมาตรฐานที่สร้างความแตกต่างในธุรกิจอาหารเพื่อสร้างคุณค่าที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังลูกค้า (Advanced Value)
"โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างฐานการผลิตของบริษัทให้แข็งแกร่งและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกตลาดและผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลกตามเป้าหมายบริษัทในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์อาหารยั่งยืนและผู้นำด้านคุณภาพอาหารปลอดภัย และเป็นมาตรฐานเดียวกันในกระบวนการผลิตอาหารของ ซีพีเอฟ ทั่วโลก" นายวีรชัย กล่าว
นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้ทำงานร่วมกับ สถาบันมาตรฐานอังกฤษ (British Standards Institution หรือ BSI) ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานชั้นนำของโลก ในการจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างมาตรฐานของบริษัท (Private Standard) แบบบูรณาการมาตรฐานสากลต่าง ๆ ที่บริษัทมีประกาศนียบัตรรับรองในปัจจุบัน เช่นISO 9001, GMP, HACCP, BRC (British Retail Consortium), QS Quality Scheme for Food (QS) เป็นต้น โดยนำโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรของซีพีเอฟ มาออกแบบระบบมาตรฐาน ที่สามารถลดความเสี่ยงในทุกขั้นตอนการผลิต ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค
"การจัดทำมาตรฐานอาหาร ซีพีเอฟ มีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟให้มีความโดดเด่น ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food Safety & Food Quality Leader) และต่อยอดคุณค่าเพื่อการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ (Product Sustainability Leader)" นางสาวกุหลาบ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ไก่ซีพีเอฟ ได้รับการรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์ไก่ที่ยั่งยืนรายแรกของโลก จาก DNV-GL ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบและให้การด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนระดับสากล โดยการจัดทำมาตรฐานเริ่มในกลุ่มธุรกิจไก่เนื้อเป็นโครงการนำร่องและมีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของซีพีเอฟ ภายในปี 2018 และจะบรรลุเป้าหมายครอบคลุมธุรกิจของซีพีเอฟทั่วโลกต่อไป
นางสาวกุหลาบ กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการประยุกต์ใช้มาตรฐานเดียวสามารถขอการรับรองได้หลายมาตรฐาน รวมถึงลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนด้วยระบบงานที่เป็นสากล ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของ ซีพีเอฟ มีมาตรฐานการผลิตเดียวกันที่สามารถส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการไว้วางใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ก้าวไปสู่บริษัทชั้นนำของโลก
มร.มาร์ค บาร์นส กรรมการผู้จัดการ บีเอสไอ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวว่า โครงการมาตรฐานอาหาร ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์ม และการแปรรูปอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพอาหารปลอดภัยที่มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันและการส่งออกได้ดีขึ้น
มร.บาร์นส กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟ เป็นบริษัทอาหารขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานการผลิตเป็นของตัวเองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจนถึงระดับภูมิภาค ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารแตกต่างกัน ซึ่งมาตรฐานอาหาร ซีพีเอฟ จะช่วยให้การผลิตของบริษัทมีความเที่ยงตรงแม่นยำส่งผลดีต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์
อนึ่ง BSI เป็นสถาบันมาตรฐานชั้นนำของโลก มีประสบการณ์ในการสร้างและพัฒนามาตรฐานในระดับโลกมายาวนานกว่า 115 ปี เป็นต้นกำเนิดของมาตรฐานต่างๆ เช่น ISO 9001 ,ISO 14001, ISO 22000 และ Private Standard มีลูกค้า 80,000 ราย ใน 172 ประเทศ./