กยท. เชิญ ผู้ประกอบกิจการยางรายใหญ่ของประเทศ เจาะปัญหาราคาร่วงผิดปกติ เตรียมเดินหน้ามาตรการเร่งด่วน สร้างเสถียรภาพด้านราคา

ศุกร์ ๑๖ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๑:๒๙
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 การยางแห่งประเทศไทย นำโดย พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมหารือตัวแทนบริษัทผู้ส่งยางรายใหญ่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด และบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด หวังหาแนวทางการแก้ปัญหาราคายางในตลาดโลกลดลงอย่างผิดปกติ และกำหนดมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้เกิดขึ้น

พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การเชิญผู้ประกอบกิจการยางรายใหญ่ของประเทศร่วมหารือในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาราคายางในตลาดโลกที่ลดลงอย่างผิดปกติ และกำหนดมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้เกิดขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก

"ไม่มีใครพูดได้ว่าราคายางจะดีหรือไม่ดี แต่ราคาจะต้องมีเสถียรภาพ ทุกคนต่างหวังว่าราคายางจะมีการขยับขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ตอนนี้สถานการณ์เรียกว่ามีการลดลงอย่างผิดปกติ ซึ่งสาเหตุนั้นได้มีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากหลายปัจจัย โดยหลังจากได้มีการพูดคุยร่วมกันกับตัวแทนบริษัทเอกชนผู้ส่งออกยางรายใหญ่ จึงมีการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางที่ลดลง เพื่อช่วยผลักดันให้ราคายางมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ กยท.จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเมื่อมีความจำเป็น หากมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วยังไม่เกิดเสถียรภาพ ก็จะต้องเร่งหาแนวทางหรือมาตรการอื่นแก้ไขกันอย่างต่อเนื่องกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน"

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. มีหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานหาแนวทางที่ดีที่สุดให้แก่วงการยางพาราไทย ซึ่งนอกจากรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องเกษตรกรแล้ว กยท. ยังได้เชิญผู้ประกอบกิจการยาง มาร่วมหารือถึงที่มาของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ซึ่งในวันนี้ (7 มิ.ย. 2560) ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวแทนผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ราคายางพารา ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความผิดปกติ เพราะฉะนั้นจากนี้ต่อไปจะมีมาตรการร่วมกันในการแก้ไขราคายางให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติและเกิดเสถียรภาพมากขึ้น

ดร. ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นลงของราคาเป็นเรื่องที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดโดยทั่วไป แต่การขึ้นลงของราคายางอย่างรวดเร็วจนผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัจจุบัน ราคาซื้อขายภายในประเทศมาจากการอ้างอิงราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ปัญหาราคายางจะต้องเข้าไปแก้ไขทั้งในส่วนของตลาดซื้อขายปัจจุบันและในตลาดล่วงหน้าด้วย เพราะทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันหมด

"ในขณะที่ตลาดโลกยังคงความต้องการยางพารามาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาขณะนี้เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินที่มีการแข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลง ซึ่งไม่นานก็จะย้อนกลับไปสู่จุดสมดุล แต่การที่ราคาลดลงเร็วอย่างผิดปกติ จะต้องแก้ที่ต้นเหตุและหาแนวทางเพื่อให้การเคลื่อนไหวของราคายางมีเสถียรภาพ" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากข่าวลือที่ไม่มีข้อมูลจริงอ้างอิง ทำให้ส่งผลต่อจิตวิทยาในการลงทุน เพราะฉะนั้น มาตรการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของการเอาเงินเข้าไปแก้ไข แต่เป็นการช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้รับข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นความจริงโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ยังมีมาตรการที่เป็นความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกระดับโลก อย่างเช่น ข้อตกลงเรื่องการจำกัดการส่งออก แต่เป็นเรื่องที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 3 ประเทศร่วมกัน ในขณะเดียวกันภายในประเทศจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กยท. และผู้ประกอบกิจการยาง รวมถึง ทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพราคายาง

ด้าน นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย และ กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สืบเนื่องจากราคายางในตลาดโลกช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ลดลงแบบผิดปกติ เพราะฉะนั้นด้านผู้ประกอบการ และตัวแทนของภาคเอกชนผู้ประกอบกิจการยางพารา จึงมาหารือปัญหาราคายางร่วมกันกับภาครัฐ และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายาง ทั้งนี้ ทุกคนยอมรับว่าราคายางลงผิดปกติ ทั้งที่ยางพาราไม่ได้ล้นตลาดมาก และพื้นฐานการใช้ยางไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด วันนี้จึงร่วมกันหารือ พร้อมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางให้มีเสถียรภาพที่ชัดเจน และจะเริ่มต้นทำทันที เพื่อดูแลให้ราคายางมีเสถียรภาพ

"ราคายางในตลาดโลกเดียวกัน กลไกก็จะเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่วนตลาดล่วงหน้าถ้ามีผู้เข้าซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเยอะๆ ราคาเหล่านั้นจะเป็นตัวชี้นำตลาดซื้อขายจริงได้ โดยตลาดล่วงหน้าของยางพาราจะมีอยู่ 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดสิงคโปร์ ตลาดเซี่ยงไฮ้ และตลาดโตเกียว จึงไม่สามารถบอกราคาที่แน่นอนเป็นราคาเดียวได้ สำหรับกลุ่มพวกเรา 5 เสือ อยู่ในตลาดสินค้าที่มีการซื้อขายจริง ไม่ใช่ตลาดล่วงหน้าแน่นอน ดังนั้น มาตรการที่ได้มีการร่วมประชุมหารือกันนี้ จะเป็นกลไกที่เราจะทำให้ราคามีเสถียรภาพ แต่ขณะนี้ไม่สามารถบอกให้ทราบได้ว่าจะใช้แนวทางและวิธีการอย่างไร" นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวย้ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ