หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร ภายใต้การกำกับคณะศิลปศาสตร์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ซึ่งมีดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เป็นคณบดีและผู้ร่างหลักสูตร คือ หลักสูตรที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดในการสร้างเชฟอาหารไทยระดับอินเตอร์มากที่สุดในขณะนี้
ดร.ยิ่งศักดิ์ กล่าวว่า "หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร เป็นหลักสูตรใหม่ที่พร้อมจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2/2560 โดยขณะนี้ได้รับการอนุมัติให้เปิดรับนักศึกษาใหม่จากสภาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมพัฒนาพ่อครัวไทยมืออาชีพในตลาดแรงงานสากล"
โดยเป้าหมายของการเปิดสาขาดังกล่าวเพื่อสร้างเชฟอาหารไทยที่มีความรู้และปฏิบัติงานมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากที่ผ่านมาเชฟอาหารไทยยังขาดความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดรูปแบบอาหารระดับสากล การปรับสูตรอาหาร ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร การทำธุรกิจร้านอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งจำเป็นและกำหนดเป็นกฎหมาย
"เชฟที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ บางคนเขาไม่ต้องการเป็นแค่เชฟ แต่เขาต้องการที่จะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง ความรู้ที่เขาต้องมีจึงไม่ใช่การทำอาหาร แต่เรื่องการบริหารคน บริหารร้าน หรือความปลอดภัยของร้านอาหารในระดับมาตรฐานสากลที่เหมือนบ้าง ต่างบ้างจากมาตรฐานของประเทศไทย ร้านอาหารไทยหลายแห่งในต่างประเทศถูกสั่งปิดเพราะไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ความสะอาด ฯลฯ ทำให้เสียชื่อเสียง ฐานลูกค้า ที่สำคัญเสียชื่อประเทศชาติ"
นอกจากนี้หลักสูตรนี้ยังต่างจากหลักสูตรอื่นๆ เพราะเจาะลึกลงไปในแขนงต่างๆ ของอาหารไทย เช่น อาหารไทยตำหรับชาววัง ที่ประยุกต์ให้เหมาะกับภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งยังไม่มีใครทำการสอนในลักษณะดังกล่าว และยังเป็นการเผยแพร่อาหารไทยต้นตำหรับให้ชาวต่างชาติได้รู้จักและลิ้มรสถึงความอร่อย
"ปกติการเรียนทำอาหารคนจะมองว่าเป็นการเรียนคหกรรมแต่หลักสูตรนี้นอกจากลงลึกกว่าหลักสูตรปกติแล้วยังสอนให้ทำครัวเพื่อการพาณิชย์ หรือ Commercial Cookery ขณะที่การเรียนคหกรรมหรือ Home Economics ดั้งเดิมคือการทำครัวเพื่อบริโภคในครอบครัว ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้เขาจะทำอาหารไทยแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยท้องถิ่น อาหารชาววัง อาหารจานด่วน ได้แบบเทคนิคและมาตรฐานแบบสากล แต่ยังคงเป็นต้นตำหรับหรือ Authentic ด้วยการจัดคู่อาหาร รสชาติ การนำเสนอ การตกแต่ง การแกะสลักแบบชาววังดังเดิม"
สำหรับหลักสูตรนี้เปิดรับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี 4 ปี โดยผู้เข้าเรียนต้องจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือปวช. ในสาขาต่างๆ และผู้ที่ย้ายมหาวิทยาลัยหรือจบปวส.แล้วสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้และทาง STC มีแนวทางจะจัดทำตารางเรียนสำหรับผู้เรียนกลุ่มนี้ให้จบภายในเวลาประมาณ 2 ปี สำหรับผู้เรียนดีหรือมีความสามารถพิเศษทางวิทยาลัยจะมีทุนการศึกษาให้อีกด้วย
"เราเปิดรับนักศึกษารุ่นละ 40 คน ด้วยปริมาณเด็กไม่มากเกินไปทำให้เราสามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด นักศึกษาที่เรียนที่นี้เขาจะได้ลงมืออาหารกับครัวระดับมาตรฐานสากล วัตถุดิบก็เป็นวัตถุดิบคุณภาพ อย่างกุ้งแม่น้ำเราก็ให้นักศึกษาได้เรียนคนละตัว ขณะที่อื่นกุ้งหนึ่งตัวเรียนกัน 2-3 คนทำให้บางทีไม่ได้ลงมือทำเอง ทำให้ขาดทักษะ หลักสูตรนี้จึงนับเป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดในขณะนี้" ดร.ยิ่งศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย