ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่ปี 2501 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ประเทศในแถบร้อนชื้นหลายๆ ประเทศของเอเชียต่างมีปัญหาในการควบคุมโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะต่อการเกิดของยุงลาย ซึ่งการดำเนินงานด้านการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ซึ่งในปี 2554 ที่ประชุมกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้มีมติร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน ASEAN Dengue Day หรือวันไข้เลือดออกอาเซียน
ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นสถานที่ที่ไม่ควรจะพบลูกน้ำยุงลายเลย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ ใช้มาตรการ "3 เก็บ" ได้แก่ "เก็บบ้าน" ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง "เก็บขยะ" เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ "เก็บน้ำ" สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกันโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่มียุงลายบ้านเป็นพาหนะนำโรคมาสู่คน อาการที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตับ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะช็อกแทรกซ้อนเป็นเหตุเสียชีวิตได้ จึงต้องหมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัยทุกๆ สัปดาห์ หลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอยไข้ไม่ลดภายใน 2-3 วัน ให้สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาแก้ไข้หรือยาชุดรับประทานเอง ให้รีบพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422