นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีมาตรการกำกับดูแลและกำหนดให้ขั้นตอนการทำเหมืองแร่ต้องจัดทำแผนการฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมว่า เมื่อเหมืองที่ปิดตัวลงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย แต่สามารถพัฒนาพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนได้ อาทิ พื้นที่สวนสาธารณะ แหล่งเก็บกักน้ำ เป็นต้น
ล่าสุด กพร. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ประกอบการทำเหมืองแร่ให้มีการปรับสภาพและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ประมาณ 270 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองชนิดแร่ถ่านหินแล้ว โดยสภาพพื้นที่หลังสิ้นสุดการทำเหมือง เมื่อปี 2552 มีทั้งพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบและเป็นบ่อน้ำซึ่งมีน้ำขังตลอดทั้งปี แต่คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมในการนำมาใช้เพื่อการสาธารณูปโภค เนื่องจากมีสภาพความเป็นกรด ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบ่อหลวงได้ประสานมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริดำเนินการศึกษาและออกแบบระบบบำบัดน้ำจากบ่อเหมืองเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคได้อย่างปลอดภัย
โดยในส่วนของ กพร. ได้ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ และเทศบาลตำบลบ่อหลวง ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 และระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2560
"ในระยะแรกได้สำรวจพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยพื้นที่มีลักษณะเป็นบ่อเหมืองมีน้ำขังตลอดปี ปัจจุบันมีการสูบน้ำจากบ่อเล็กไปใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคในครัวเรือนและการเกษตรกรรม สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้ปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และจัดเป็นพื้นที่สันทนาการ กพร. จึงได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัย โดยพื้นที่ขอบบ่อมีการปรับเป็นขั้นบันได และจัดทำรั้วเหล็กความสูง 1 เมตร กั้นแนวทางเดินกับขอบบ่อเหมือง ระยะทาง 480 เมตร และจัดเป็นพื้นที่สันทนาการ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกาย และมีการปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน พร้อมปรับภูมิทัศน์ปลูกต้นไม้โดยรอบพื้นที่ว่าง เพื่อจัดเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนและให้เกิดการฟื้นฟูของระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ" นายสมบูรณ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในปี 2560 ได้พัฒนาพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการท่องเที่ยว ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่รอบขอบบ่อเหมืองให้เรียบเพื่อการจัดทำทางเดิน และปลูกต้นไม้ประดับเพื่อเพิ่มความสวยงาม และจัดทำสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมมีการปรับพื้นที่บริเวณใกล้กับบ่อน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่เพื่อจัดทำสวนสมุนไพรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ประชาชนในชุมชน และผู้ที่สนใจ
ที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่ามากกว่า 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบด้านการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ของรัฐที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ กพร. มีนโยบายในการดำเนินการตรวจสอบและคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติของพื้นที่ข้างเคียงและปรับปรุงพื้นที่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมและชุมชนว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองได้อย่างยั่งยืน