รองศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ได้ก่อตั้งมาเพื่อตอบความต้องการของประเทศในการพัฒนาการศึกษาให้มั่นคงและเท่าเทียมมายาวนานกว่า 83 ปี แล้ว ทั้งนี้ในวาระครบรอบ 83 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2560 ได้จัดกิจกรรมครบรอบโดยการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 84 รูป พร้อมรับชมการขับร้องเพลงประสานเสียงจากชุมนุมขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในบทเพลงประจำมหาวิทยาลัย (ทำนองมอญดูดาว)และเพลงมาร์ช ม.ธ.ก. ขณะเดียวกันศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานในพิธียังมอบเหรียญจักรพรรดิมาลาแก่อาจารย์และบุคลากรและมอบโล่เกียรติยศแก่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งครบวาระรวมถึงมอบโล่เกียรติคุณและรางวัลแก่กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้กับอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ครูและนักวิชาการที่ดี ทั้งได้อุทิศตนให้ประจักษ์แก่สาธารณะชนด้านการสอน การวิจัยและการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ในโอกาสครบรอบ 83 ปีนี้ได้มุ่งเน้นสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาผ่านการแสดงปาฐกถา หัวข้อ "มายาคติในอุดมศึกษาไทย" เพื่อให้รับทราบถึงทิศทางการศึกษาของไทยในอนาคตด้วย
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2559 กล่าวในการปาฐกถา หัวข้อ "มายาคติในอุดมศึกษาไทย" ว่าระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษาของประเทศไทย เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลาง ความเชื่อที่ผิดพลาด มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับธรรมชาติของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ขัดแย้งกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัย และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัย กับทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการศึกษาของประเทศที่มุ่งจะรับรองความเป็นอิสระของสถาบันอุดมศึกษาด้วย
ความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนี้เกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ไปจนถึงในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ และเกิดขึ้นในระดับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย และได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ลุกลามไปเป็นปัญหาในทางการบริหารงานในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานกลางกับสถาบันอุดมศึกษา และกลายไปเป็น การฟ้องร้องเป็นคดีต่าง ๆ มากมาย ทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ถ้าหากไม่มีความเข้าใจและไม่สามารถมองให้ผ่าน "มายาคติ" ที่เคยเชื่อตาม ๆ กันมา อย่างยาวนานในระบบอุดมศึกษาของประเทศไทยแล้ว ย่อมไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะรื้อ ปรับระบบอุดมศึกษาไทยดังเห็นได้ในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่การศึกษาไทยในช่วง 1 ศตวรรษนี้ไม่มีพัฒนาการแต่ยังคงหล้าหลังไปทุกวันทั้งรูปแบบการเรียนการสอนหรือเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ แต่หากสามารถปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยของรัฐให้มีพลวัตร มีการบริหารจัดการที่ มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพที่เป็นแกนหลักและจะนำสังคมไทยให้เปลี่ยนแปลงตามทันพัฒนาการของโลก และเป็นความหวังที่จะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับสังคมไทยในอนาคตได้
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493 หรือ www.tu.ac.th