นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการดูแลผู้ติดสุราในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ 1) มาตรการจัดการระยะแรก เพื่อค้นหาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราให้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การดูแลรักษาเบื้องต้น
โดยการคัดกรอง และการให้การบำบัดระยะสั้น 2) มาตรการบำบัดรักษาภาวะถอนพิษสุราและโรคร่วมทางกาย เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดสุราและโรคทางกายที่พบร่วม 3) มาตรการการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพ เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการละ ลด เลิกดื่ม และนำเข้าสู่ขบวนการบำบัดฟื้นฟูทางจิตใจ ป้องกันการกลับดื่มซ้ำ ได้แก่ การบำบัดแบบย่อ การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ การ บำบัดทางพฤติกรรมปัญญา และการให้คำปรึกษาปัญหาการดื่มสุรา เป็นต้น และ 4) มาตรการดูแลระยะยาวหลังการรักษา ภายหลังจากผู้ติดสุราถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และจะได้รับการดูแลต่อเนื่องในชุมชน ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถคงอยู่ในสังคมได้โดยไม่ดื่มสุรา จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่น กลุ่มผู้ติดสุรา พระสงฆ์ แกนนำชุมชน ทีมสุขภาพในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มครอบครัวบำบัดสุขใจ เป็นรูปแบบการบำบัดทางเลือกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้ผู้ติดสุราลด ละ เลิกพฤติกรรมการดื่มสุราได้ ตลอดจนช่วยให้ผู้ติดสุราและสมาชิกในครอบครัวสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดีขึ้น เป็นการแก้ปัญหาการดื่มสุราอย่างเป็นระบบและครอบคลุม ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยหลักสำคัญในการบำบัด ประกอบด้วย 1) สมาชิกครอบครัวของผู้ติดสุราจำนวน 2-12 ครอบครัว 2) เน้นการช่วยเหลือตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3) เน้นการแก้ปัญหาในปัจจุบัน 4) มีครูผู้เอื้อ 5) มีการประสานงานกับองค์กรต่างๆในชุมชน 6) จัดตั้งในชุมชน และ 7) เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว
ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยจะเข้ากลุ่มทำกิจกรรม 3 ชุดกิจกรรม ชุดกิจกรรมที่ 1 จะเข้ากลุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที รวม 10 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับทัศนคติ ความเชื่อ เกี่ยวกับสุราและผลกระทบ ฝึกทักษะการสื่อสาร รู้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สร้างแรงจูงใจและตั้งเป้าหมาย ลด ละ เลิกดื่มสุรา ส่วน กิจกรรมชุดที่ 2 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 1 โดยจะเข้ากลุ่มครั้งละ 60-90 นาที รวม 3 ครั้ง เพื่อต่อยอดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการดื่มสุรา ในประเด็นที่สมาชิกยังไม่เข้าใจ เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตทางบวก ลด ละ เลิกการดื่มสุราต่อเนื่อง ในรายที่กลับไปดื่มซ้ำ จะไม่ตำหนิแต่ให้กำลังใจ ซักถามปัญหาอุปสรรคและร่วมกันแก้ไขปัญหา และ กิจกรรมชุดที่ 3 จะเป็นสมาชิกที่ผ่านกิจกรรมชุดที่ 2 และผู้สนใจที่อาศัยอยู่ในชุมชน เข้ากลุ่มครั้งละ 2-3 ชั่วโมง รวม 3 ครั้ง เน้นชุมชนเห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักในวิกฤติปัญหาสุรา แนะนำกลุ่มครอบครัวสุขใจในการแก้ไขปัญหา ให้สมาชิกที่ผ่านการเข้ากลุ่มแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีผู้นำกลุ่มเป็นพยาบาลจิตเวชที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการทำกลุ่มครอบครัวบำบัดผู้ติดสุรา จากประเทศศรีลังกา เป็นผู้นำกระบวนการกลุ่ม จากการพัฒนากลุ่มครอบครัวสุขใจโดย รพ.สวนปรุง เมื่อปี 2557 ศึกษานำร่องในชุมชน ผู้ติดสุรา 28 คน พบว่า ภายหลังการเข้าร่วมกลุ่มครอบครัวสุขใจ ผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ 12 คนคิดเป็น ร้อยละ 42.85 ตลอดจนจากการศึกษาประสิทธิผลของกลุ่มครอบครัวสุขใจต่อพฤติกรรมการดื่มสุราและการทำหน้าที่ครอบครัวในผู้ติดสุรา ศึกษา ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.ลำพูน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน ศึกษาตั้งแต่เดือน เมษายน 2559 - มีนาคม 2560 พบว่า ช่วยผู้ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ 19 ราย คิดเป็น ร้อยละ 47.50 ช่วยผู้ติดสุราลดดื่มสุราได้ 16 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.00 และทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างดีขึ้น 33 ราย คิดเป็น ร้อยละ 82.50