กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ตลท.
สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอรายงานการศึกษามาตรการทางด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน พบว่า ประเทศไทยมีระดับการเปิดเสรีการลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และควรวางเป้าหมายที่จะเริ่มเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยมีทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงและสามารถจัดสรรเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มธุรกรรมให้สถาบันตัวกลาง ส่งผลให้ตลาดทุนไทยมีการพัฒนามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีควรจะทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อปรับความพร้อมของผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “การลดข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย : ข้อคิดจากการศึกษาและประสบการณ์ในต่างประเทศ” ในรายงาน SET Note ฉบับที่ 8/2549 ว่า จากตัวอย่างตลาดทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วที่เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเต็มที่ และประเทศกำลังพัฒนาที่ทยอยเปิดเสรีมากขึ้น รวมถึง งานศึกษาวิจัยในต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าการเปิดเสรีการลงทุนระหว่างประเทศช่วยพัฒนาตลาดทุน โดยเพิ่มขนาดและสภาพคล่องของตลาดทุน ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียงแล้ว พบว่าประเทศไทยมีระดับการเปิดเสรีการลงทุนค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับเงินทุนไหลออก
“ปัจจุบันประเทศไทยยังควบคุมการลงทุนระหว่างประเทศมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีเพียงประเทศจีนที่เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากกว่าไทย ในขณะที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ทยอยเปิดเสรีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น จะเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการแข่งขัน และทำให้ตลาดทุนพัฒนามากขึ้น
โดยไทยมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เห็นได้ชัด คือ 1) ผู้ลงทุนรายย่อยของไทย ไม่สามารถไปลงทุนในตราสารในต่างประเทศได้โดยตรง แต่ต้องลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund: FIF) เท่านั้น และ 2) บริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในประเทศไทยได้ แต่บริษัทของไทยสามารถออกไประดมทุนจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ปัจจุบันผู้ลงทุนรายย่อยของไทยไม่สามารถไปลงทุนในตราสารในต่างประเทศได้โดยตรง เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีข้อจำกัดทางด้านนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ทยอยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในตราสารในต่างประเทศได้โดยตรงแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งประเทศจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ยังคงมีข้อจำกัดไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในประเทศเช่นเดียวกับเรา ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวต่อว่า “รายงานการศึกษายังแนะนำว่า ประเทศไทยควรพิจารณาเริ่มเปิดเสรีการลงทุนมากขึ้นและควรทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยควรเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยเริ่มเข้าถึงตราสารต่างประเทศได้มากขึ้น โดยในช่วงแรกอาจจะยังไม่อนุญาตให้ไปลงทุนโดยตรง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนที่ยังขาดความรู้ และประสบการณ์ แต่สามารถอาศัยเครื่องมือ เช่น ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ (depository receipts: DR) ในประเทศไทยให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศได้ พร้อมสร้างฐานความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ต่อไป”
นอกจากนี้ ควรอนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถระดมทุนผ่านตราสารในประเทศไทยได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มขนาดและสภาพคล่องได้มาก ดังเช่นในประเทศฮ่องกงที่มีบริษัทต่างชาติจดทะเบียนอยู่ร้อยละ 16 โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 ของยอดรวม หรือตลาดสิงคโปร์ที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเป็นการซื้อขายในหลักทรัพย์ของบริษัทต่างชาติประมาณ ร้อยละ 18
“การให้บริษัทต่างชาติสามารถระดมทุนผ่านตราสารในประเทศไทย เพื่อนำเงินไปดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการเปิดเสรีให้ผู้ลงทุนเริ่มลงทุนในตราสารต่างประเทศมากขึ้น จะมีส่วนช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวสรุป
ผู้สนใจติดตาม SET Note ได้เพิ่มเติมที่ http://www.set.or.th/setresearch
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797