ผู้เขียน: มร. แฟรงก์ แมคลาฟฮิน,
รองประธานบริหารกลุ่มโซลูชั่นธุรกิจ Epicor International
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรสำหรับผู้ผลิตของไทยในช่วงปี 2560? ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank -ADB) ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีมากสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจีดีพีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2560 นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมๆ พัฒนาสู่อุตสาหกรรมการผลิตด้านการบินและอิเล็กทรอนิกส์ไฮเทค และนำไปสู่ทักษะใหม่ๆ ค่าจ้างที่สูงขึ้น และรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นับเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ผลิตของไทยในการเร่งเครื่องเพื่อผลักดันการเติบโต พร้อมทั้งลงทุนในอุปกรณ์ วิธีการผลิตใหม่ๆ เช่น ระบบการพิมพ์ 3มิติ และซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการปรับปรุงธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Transformation) และระบบโรงงานที่เชื่อมต่อถึงกันและรองรับการประสานงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
การลงทุนด้านเทคโนโลยีสำหรับผู้ผลิตจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud), Internet of Things (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ขณะที่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นหัวข้อการสนทนาและการสำรวจในช่วงปี 2559 แต่ผู้ผลิตจะขยับผ่านขั้นตอนการออกแบบและกำหนดคอนเซ็ปต์ไปสู่ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติและติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจังในช่วงปี 2560
เทคโนโลยีคลาวด์จะกลายเป็นเดิมพันที่สำคัญ โดยปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ผลิตในการลงมือดำเนินการตามแผนการเตรียมความพร้อมด้านระบบคลาวด์ แพลตฟอร์มคลาวด์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายภายในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถแซงหน้าผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีสถานะมั่นคงและอยู่ในตลาดมานาน
นอกเหนือจากการปรับปรุงในส่วนของการตอบสนองที่ฉับไว ความคล่องตัว และค่าใช้จ่ายแล้ว ระบบคลาวด์จะช่วยให้องค์กรธุรกิจดำเนินการปฏิรูปการดำเนินงานให้ทันสมัยได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อผู้ผลิตเปลี่ยนจากระบบรุ่นเก่าที่ติดตั้งภายในองค์กรไปสู่ระบบ ERP บนคลาวด์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงธุรกิจและกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังรองรับการรวบรวมข้อมูลจากทุกส่วนภายในองค์กร และแปลงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินงานและการขับเคลื่อนธุรกิจ
เงื่อนไขสำหรับ IoT–เริ่มต้นด้วยขนาดเล็ก เริ่มต้นวันนี้
การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) และ IoT ยังคงมอบโอกาสการเติบโตที่ดี เพราะข้อมูลเชิงลึกที่กลั่นกรองจากหลากหลายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบเจาะจงเป้าหมาย และขยายช่องทางรายได้ด้านธุรกิจ พร้อมความสามารถในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน McKinsey Global Institute ระบุว่าถึงแม้โรงงานต่างๆ มีศักยภาพสูงมากสำหรับการสร้างมูลค่าในยุค IoT แต่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลที่เก็บบันทึกในกระบวนการผลิตกลับไม่ได้ถูกใช้งาน
ขณะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจาก IoT แต่ผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก กลับใช้กลยุทธ์ "รอดู" เพราะโครงการริเริ่มด้าน IoT อาจดูเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ที่จริงแล้ว ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเตรียมการมากนัก เพราะแน่นอนว่าย่อมจะมีระบบงานบางอย่างภายในองค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนสู่แพลตฟอร์ม IoT และ/หรือคลาวด์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาอันสั้น
ข้อมูลจาก PriceWaterhouseCoopers ชี้ว่า 55% ขององค์กรธุรกิจจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (ROI) จากเทคโนโลยี IoT ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นั่นหมายความว่าผู้ผลิตที่ได้ปรับใช้เทคโนโลยี IoT ไปแล้วก่อนหน้านี้อาจกำลังเริ่มที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวกันบ้างแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินและศึกษาว่าเทคโนโลยี IoT จะช่วยเหลือธุรกิจของคุณได้อย่างไรและตรงจุดไหนบ้าง
เสริมศักยภาพให้กับธุรกิจของคุณเพื่อรองรับบุคลากรรุ่นใหม่
เป็นผลมาจากการที่บุคลากรจำนวนมากที่เกิดในยุคเบบี้บูม (Baby Boomers) กำลังจะเกษียณอายุ ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งนี้ ภายในปี 2563 คาดว่า 64% ของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอายุไม่ถึง 40 ปี และจะกลายเป็นกำลังหลักในแวดวงการทำงานในภูมิภาคนี้ในช่วงทศวรรษหน้า คนรุ่นมิลเลนเนียลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความรู้สูงและชำนาญการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดค้นกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิตอลของคนรุ่นใหม่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวเข้าสู่ยุคของระบบการผลิตแบบอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) ได้อย่างแข็งแกร่ง
ผู้ผลิตจะต้องคิดใหม่ทำใหม่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างองค์กรกับบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิตอลเหล่านี้ และจะต้องปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการสร้างแรงจูงใจและเสริมศักยภาพให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ เทคโนโลยีซึ่งคั่นกลางระหว่างบุคลากรและระบบต่างๆ จะทำหน้าที่ผสานรวมข้อมูลและการปฏิบัติงานเข้าด้วยกัน โดยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการลดความยุ่งยากซับซ้อน ปรับปรุงคุณภาพการทำงาน และส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต ระบบธุรกิจที่เข้าถึงได้และใช้งานง่ายจะช่วยให้คนรุ่นมิลเลนเนียลสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คนรุ่นใหม่ต้องการที่จะทุ่มเทเวลาและความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่องค์กร และมีความพร้อมที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น แต่คนกลุ่มนี้มีความอดทนน้อยมาก กล่าวคือ แทนที่จะรอดูรายงานตอนสิ้นเดือนเพื่อตรวจสอบว่าผลการปฏิบัติงานของตนเองเป็นอย่างไร คนกลุ่มนี้กลับต้องการข้อมูลฟีดแบ็คแบบเรียลไทม์ที่ส่งตรงไปยังโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์สวมใส่ ระบบคลาวด์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รองรับ
เริ่มต้นทันทีด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ
ปีนี้นับเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุดในรอบทศวรรษสำหรับผู้ผลิต ดังนั้นจึงควรตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโอกาสนี้ การลงทุนที่ตรงจุดในเทคโนโลยีคลาวด์, IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูล จะช่วยให้ผู้ผลิตฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต