ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังความผันผวนหลักน่าจะมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา จากประเด็นนโยบายทางการคลังของสหรัฐที่ยังคงสร้างความไม่แน่นอนในตลาด เช่น การเจรจาเรื่องเพดานหนี้สหรัฐช่วงสิ้นเดือนกันยายน2560 และมาตรการด้านภาษีและงบประมาณของทรัมป์ เป็นต้น ขณะเดียวกันตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวและระดับหนี้ครัวเรือนล่าสุดที่สูงกว่าก่อนช่วงวิกฤตซับไพร์มน่าจะทำให้เฟดยังคงส่งสัญญานการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นต่อไปและยังคงคาดการณ์ในเรื่องการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเช่นกัน ในส่วนของการประกาศเริ่มปรับลดขนาดงบดุล (Balance sheet shrinking) น่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังในช่วงสิ้นปี 2560
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าน่าจะไม่รีบปรับทิศทางนโยบายทางการเงินให้ตึงตัวขึ้นภายในปีนี้ แม้ว่ามีทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้นแต่อัตราเงินเฟ้อยังไม่ฟื้นตัว สำหรับมุมมองต่อราคาน้ำมันคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยมีปัจจัยกดดันจาก ข้อตกลงในการขยายกรอบเวลาปรับลดปริมาณการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) และนอกกลุ่มโอเปก(Non-OPEC) ที่เป็นเพียงการซื้อเวลา และกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐอมริกาที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว
ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เรายังคงมุมมองการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้าในอุปสงค์ภายในประเทศ ด้วยจำนวนคนว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น 25% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงคาดว่าการฟื้นตัวของค่าจ้างนอกภาคเกษตรจะยังคงเป็นไปอย่างช้าๆและจะยังคงเป็น Missing Link ระหว่างการฟื้นตัวของการส่งออกที่กระจุกตัวและการบริโภคที่อ่อนแอต่อไป ตัวเลขยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เติบโตได้ดีในช่วง 4 เดือนแรกของปี อาจไม่ใช่สัญญานการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ออกจากโรงงานไปสู่ดีลเลอร์ ซึ่งมีทิศทางต่างกับตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์นั่งที่ยังคงเติบโตค่อนข้างช้า
การลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ Backlog ที่มีในมือยังเพียงพอที่จะกระตุ้นให้การลงทุนภาครัฐเติบโตขึ้นในระดับ 10% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการอนุมัติและการประมูลของการของภาครัฐน้อย แต่คาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรา44 เป็นเครื่องมือหลักในการปลดล็อคข้อติดขัดของโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทำให้มีการอนุมัติและประมูลโครงการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 - ครึ่งปีแรก 2561 เช่นเดียวกันกับกลุ่มท่องเที่ยวที่จะค่อยๆฟื้นตัว จากการที่นักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียเริ่มกลับมา รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่คาดว่าจะกลับมาหลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดในช่วงปลายไตรมาส 2
ด้านการลงทุนของภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2561 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ก็ตาม เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดกลุ่มนักลงทุนได้ คือการบังคับใช้ พรบ.EEC ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในเดือนตุลาคม 2560 ดังนั้นการกลับมาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนของเอกชนน่าจะกลับมาได้ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ระดับ 1% โดยเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดมีสาเหตุมาจากราคาอาหารสดที่ไม่สูงเท่าปีที่แล้วและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ไปตลอดทั้งปี 2560
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 3 ตลาดจะเผชิญความเสี่ยงจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน ที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงทั้ง QoQ และ YoY ซึ่งน่าจะทำให้ดัชนีไม่สามารถไปได้ไกลกว่า PER 15 เท่า ที่ 1,587 จุดได้มากนัก โดยสุดท้ายแล้วคาดว่าดัชนีจะกลับลงมาเคลื่อนไหวที่เป้าหมาย 1,570 จุด
สำหรับช่วงไตรมาส 3 กสิกรไทยวางกลยุทธ์การลงทุนสำหรับนักลงทุนไว้ 3 แนวทาง คือ 1.)อย่ามองข้ามเงินปันผล แม้จะยังคาดถึง bond yield ที่สูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่าเงินปันผลจะยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนทั้งหมด โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 3/2560 ได้แก่ PTT BBL และ SCB ต่างก็มี อัตราปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด มีความมั่นคงและศักยภาพการเติบโตที่ดี 2.) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล การลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยและเชื่อว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ หุ้นเด่น ได้แก่ STEC (ผู้รับเหมางานโยธา) และ TPCH (พลังงานทดแทน) 3.) การฟื้นตัวของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จาก "เท่ากับตลาด" เป็น "มากกว่าตลาด" โดยมีหุ้นเด่น คือ PSH และ SPALI เพราะจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของกลุ่ม (และมี DY ที่น่าดึงดูด) รวมถึง HMPRO ซึ่งที่มีสัดส่วนยอดขาย 20% มาจากโครงการใหม่ๆ