สสส. ชู “ตลาดเกษตรม.อ.” ตลาดนัดต้นแบบการจัดการด้านอาหารและโภชนาการ การันตี “ผัก-ผลไม้” ปลอดภัย

พฤหัส ๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๗ ๑๕:๒๗
สสส. ชู "ตลาดเกษตรม.อ." ตลาดนัดต้นแบบการจัดการด้านอาหารและโภชนาการ การันตี "ผัก-ผลไม้" ปลอดภัย บูรณาการระบบความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร พร้อมยกระดับตลาดเกษตร ม.อ. เป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ด้านอาหารปลอดภัย

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่ตลาดเกษตร ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อศึกษาต้นแบบการจัดการตลาดอาหารปลอดภัย โดยเชื่อมโยงระบบความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี โดยขับเคลื่อนการทำงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และมีโภชนาการอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันที่จะเลือกผลิต จำหน่าย และบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลัก ลดความเสี่ยงและเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยอาหารสุขภาพและโภชนาการ โดยยึดองค์ประกอบสำคัญคือ ระบบการผลิต ระบบการกระจาย และระบบการบริโภคอาหาร สำหรับจังหวัดสงขลาถือเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ต้นแบบโครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระบบอาหารเพื่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สิงหนคร อ.รัตภูมิ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.จะนะ ที่มีความโดดเด่นในการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย และอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็สนับสนุน ตลาดเกษตร ม.อ. ให้เป็นต้นแบบของแหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และแหล่งให้บริการ ผักผลไม้เพื่อการบริโภคที่ปลอดสารพิษ/ปลอดภัย เนื่องจากตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นแหล่งรองรับผลผลิต ซึ่ง สสส. มีเป้าหมายที่จะสร้างต้นแบบทั่วประเทศเพิ่มอีก 50 แห่งในปี 2560 โดยขณะนี้มีต้นแบบทั่วประเทศแล้วกว่า 100 แห่ง

"ในส่วนของตลาดเกษตรม.อ. เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สสส. และสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ตั้งแต่ปี 2556-ปัจจุบัน โดยมีการประสานเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นฐานการทำงาน เสริมงานเดิมหรือภารกิจของหน่วยงาน และกลุ่มที่ดำเนินงานอยู่แล้วในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดชุมชนต้นแบบและการบริหารจัดการต้นแบบเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง ทั้งภาคผลิต ภาคจำหน่าย ภาคผู้บริโภค ตลอดห่วงโซ่อาหาร" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) กล่าวว่า ตลาดเกษตรม.อ. ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้จำหน่ายจำนวน 183 ร้านค้า โดยตั้งเป้าพัฒนาตลาดเกษตร ม.อ. ให้มีสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างยั่งยืน เน้นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และอาหารที่มีความปลอดภัย เพื่อให้อาหารปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรปลอดภัย มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สามารถย่อยสลายได้ เป็นตลาดปลอดโฟม 100 % ไม่ใช้ลวดเย็บกระดาษ เย็บบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหาร ขณะที่ผู้จำหน่ายสินค้าปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น 100% รวมทั้งเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี เช่น กิจกรรมแกว่งแขน เต้นประกอบเพลง Chicken Dance ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการออมเงิน และมีการลดปริมาณขยะในตลาดผ่านกิจกรรมธนาคารขยะโดยผู้ประกอบการสามารถแยกขยะที่นำไปกลับมาใช้ใหม่ได้ นำมาขายในกิจกรรมฯ เพื่อสะสมเป็นเงินออม

ผศ.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลาดเกษตรม.อ. มีแนวทางพัฒนา 5 ด้าน คือ 1. ด้านผู้จำหน่าย มีการพัฒนาศักยภาพผู้จำหน่ายด้วยการจัดอบรมสัมมนา 2. ด้านมาตรฐานการผลิต มีการอบรม สนับสนุนให้ผู้จำหน่ายสินค้า ติดตราสินค้า เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการติดตาม ร้องเรียน เรื่องคุณภาพสินค้า 3. ด้านผู้บริโภค มีการร่วมมือกับนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ให้มาวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการของอาหารที่จำหน่ายในตลาดเกษตร ม.อ. เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงจำนวนแคลอรี่ของอาหารที่จำหน่ายแต่ละชนิด รวมถึงการให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้มาใช้บริการในตลาดเกษตร 4. ด้านสิ่งแวดล้อมลดการใช้ถุงพลาสติก ในตลาดเกษตรม.อ.โดยการนำตะกร้ามาใช้ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคใส่สินค้าในตะกร้า แทนการใช้ถุงพลาสติกจากแต่ละร้านค้า และเป็นตลาดปลอดการใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร

ด้านนางวรภัทร ไผ่แก้ว ผู้จัดการตลาดเกษตร ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนายกระดับตลาดเกษตร ม.อ. 3 ระยะ ระยะแรกพัฒนาไปสู่อุทยานอาหารปลอกภัยเพื่อสุขภาพได้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านการเพาะปลูก การติดตามเฝ้าระวังการใช้สารเคมีในแปลงผลิต การตรวจสอบเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหาร การส่งเสริมการจำหน่ายอาหารที่มีโภชนาการ การขยายเครือข่ายเกษตร ระยะที่ 2 ยกระดับตลาดเกษตร ม.อ. ให้เป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ด้านอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย จะมีการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเรื่องการกำจัดแมลงด้วยศัตรูธรรมชาติ เป็นต้น และระยะที่ 3 การพัฒนาระบบตลาดเกษตรครบวงจร (Matching Model) การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเครือข่ายตลาดเกษตร ม.อ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีการผลิตที่เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ตลาดเกษตร ม.อ. เปิดทำการทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 14.30 -19.30 น. แบ่งเป็น 3 โซน คือโซนอาหารว่างโซนผักผลไม้และอาหารสุขภาพ และโซนอาหารคาวและอาหารทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม