กัลฐิดาพูดถึงที่มาของหนังสือชุดนี้ว่า เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองสการ์โบโร ในประเทศอังกฤษ เป็นเมืองทางภาคเหนือซึ่งมีภูมิประเทศติดทะเล แล้วเกิดหลงรักเข้าอย่างจัง Witchoar จึงได้เกิดขึ้น โดยชื่อนี้มาจากคำว่า witch ที่แปลว่า แม่มด และ oar ที่แปลว่า ไม้พาย
Witchoar เป็นเรื่องราวเจย์ สก็อต ตื่นมาพร้อมกับความทรงจำที่ว่างเปล่า เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัวเอง ทั้งเรื่องในอดีตและสิ่งที่ต้องทำต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะทำไมเขาถึงมีพลังที่น่าจะเป็น 'เวทมนตร์' ชายหนุ่มอาศัยข้อความในสมุดบันทึกทบทวนตัวตนในอดีต และกระดาษเตือนความจำที่จดไว้ทำให้เขาต้องเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองวิชชอร์เป็นพนักงานในร้านน้ำชาชื่อ วิทาเรียทีรูมแต่ชีวิตใหม่ที่น่าจะเรียบง่าย กลับไม่สงบอย่างที่คิด
กัลฐิดาเล่าถึงการทำงานของหนังสือชุดนี้ให้ฟังว่า "อย่างแรกเลยคือต้องไปอังกฤษสองรอบเพื่อเก็บข้อมูล Tea Room รูปแบบรวมถึงโครงสร้างลักษณะการวางของต่างๆ ในร้านน้ำชาในอังกฤษ สองคือศึกษาประวัติชาทั้งจากหนังสือต่างประเทศและหนังสือไทย สามคือการสร้างโลกโดยได้ต้นแบบจากเมืองสการ์โบโร (Scarborough) ซึ่งเป็นที่เมืองสวยและอากาศดี ทำให้มีความคิดว่า ถ้าเป็นเมืองเวทมนตร์ก็คงจะสนุกน่าดู ซึ่งเมือง Witchaor ในเรื่องจะเป็นเมืองที่มีผังค่อนข้างชัด เพราะตัวละครต้องเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็ต้องทำงานร่วมกับนักวาด และส่วนที่ 4 คือศึกษาตำนานของเวทย์มนตร์ ความเชื่อ เรื่องของแม่มด"
นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีแฟนคลับมาร่วมพูดคุยด้วย คนแรกคือ แพทย์หญิงปัทมาพร ทองสุขดี โดยเธอบอกว่าตามอ่านมาตั้งแต่ปี 2546 เริ่มต้นจากเรื่องเซวีนา มหานครแห่งมนตรา
"มีช่วงหนี่งที่ชีวิตเกิดปัญหา ตอนนั้นได้เซวีนาฯ ทำให้ผ่านจุดนั้นมาได้ ตอนเราเป็นเด็ก เราอ่านเรื่องนี้เพราะความสนุก แต่เมื่อโตขึ้นได้อ่านอีกหลายรอบก็ได้สังเคราะห์ข้อคิดผ่านการกระทำของตัวละคร ทำให้เมื่อเจอปัญหา เราสามารถผ่านมันไปได้ ปัทคิดว่านิยายแฟนตาซีไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่อ่าน ไม่ว่าช่วงวัยไหนก็อ่านได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำสิ่งไหนนำมาปรับใช้ในชีวิตเรา"
มาถึงนักอ่านรุ่นเล็กกันบ้าง คือ น้องชาร์เล็ต วาสิตา แฮเมเนา นักแสดงเด็ก และน้องอิ่มเอม พรพิเศษญ์ เสมสันต์ โดยทั้งคู่บอกว่า เล่มแรกที่อ่านคือ เซวีนาฯ เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ชอบ มีทั้งเรื่องพ่อมด แม่มดและแฟนตาซี ตอนนี้อ่านแล้วอาจจะแค่ความสนุกเพราะยังเป็นเด็กอยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคต ถ้ากลับมาอ่านอีกรอบน่าจะได้แง่คิดดีๆ อย่างแน่นอน
ท้ายนี้กัลฐิกาบอกว่า มีเด็กๆ อ่านหนังสือของเธอเยอะ เวลาจะเขียนอะไรจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียนเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เขียนคือวรรณกรรมเยาวชน เด็กๆ ควรจะได้รับแรงบันดาลใจว่า เขาไม่ได้เป็นคนเดียวในโลกที่ท้อ เมื่อมีทางเลือกหลากหลาย ควรเลือกไปในทางที่ถูกต้อง เหมือนตัวละครในหนังสือที่เลือกแล้วแล้วสามารถผ่านปัญหานั้นไปได้เช่นกัน