นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด กล่าวว่า สัปดาห์นี้ คาดว่าตลาดหุ้นจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จากการที่ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และแคนาดาใกล้จะยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ปรับตัวขึ้น และ Yield Curve ชันขึ้นไป และทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนหุ้นธนาคาร แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงกลัวดอกเบี้ยขึ้น จึงขายหุ้นกลุ่มอื่นออกไป ส่งผลกระทบทำให้ตลาดผันผวน
ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น และไทย คาดจะยังไม่ยุตินโยบายการผ่อนคลายทางการเงินอีกหลายไตรมาส แต่ก็เริ่มที่จะมองไว้เช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มตลาดโลกจะค่อย ๆ ปรับเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้านสหรัฐฯ วันอังคารที่ 4 ก.ค. เป็นวันชาติสหรัฐฯ ตลาดหุ้นปิดทำการ และวุฒิสภาของสหรัฐฯ ยังแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพที่จะมาแทน Obamacare โดยตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นไป สว.พรรครีพับบลิกัน จะเสนอ พ.ร.บ.สุขภาพ นี้ เพื่อให้วุฒิสภาลงมติรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และจะกระทบการเสนอ พ.ร.บ. งบประมาณ เพราะ พ.ร.บ.สุขภาพ มุ่งลดค่าใช้จ่ายรัฐบาลกลาง 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้ารับ พ.ร.บ. งบประมาณจะสามารถเสนอต่อไปได้เลย ดังนั้น ตลาดจึงยังมีความกังวลว่ากฎหมายนี้จะโหวตไม่ผ่าน
ด้านเอเชีย เม็ดเงินไหลเข้าแต่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ มากกว่าหุ้น ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมวันพุธนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สัปดาห์นี้ คาด SET Index เคลื่อนไหวในกรอบ 1,565-1,588 จุด
นายวรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ Trading Idea สัปดาห์นี้ บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำ หุ้น KBANK ของ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ราคาเป้าหมายปี 60 อยู่ที่ 217.00 บาท จากแนวโน้มสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นและจากการที่ธนาคารจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้นและแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยในตลาดโลก สินเชื่อของ KBANK เดือน พ.ค. เติบโต 2.3% YTD เข้าใกล้เป้าหมายทั้งปีของธนาคารที่ 4-6%
เรามีมุมมองบวกกว่าธนาคารโดยคาดการณ์สินเชื่อปีนี้จะเติบโต 7% เนื่องจากเราคาดอุปสงค์สินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 60 และหลังจากนั้น หนุนโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท ที่จะทยอยขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายในปีนี้และเริ่มก่อสร้างในปีหน้า นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มดูดีขึ้น รวมถึงส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน พ.ค.เติบโตถึง 13.2%YoY ซึ่งตัวเลขที่ดีขึ้นนี้สามารถบอกเป็นนัยได้ถึงการปรับตัวลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และอุปสงค์สินเชื่อของกลุ่มSME ในอนาคต เนื่องจาก SME ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก บวกกับกว่า 39% ของพอร์ตสินเชื่อ KBANK เป็นพอร์ตกลุ่ม SME
"ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารลดลงมาติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้วอยู่ที่ 3.31% ในไตรมาส 1/60 ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage ratio) ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 134.94% แม้เราคาดการณ์กำไรสุทธิของ KBANK จะเติบโตเพียง 3% ในปีนี้ เนื่องจากนโยบายการตั้งสำรองที่อนุรักษ์นิยม แต่เราคาดกำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 10.8% ในปี 61" นายวรุตม์ กล่าว
ด้าน Technical รูปแบบราคา (Price Pattern) ของ KBANK มีความแข็งแกร่งอย่างมากในแนวโน้มหลักที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)จากการเกิดทั้งสัญญาณซื้อรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน โดยเมื่อพิจารณา Price Pattern ของ KBANK จากความแข็งแกร่งรอบนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 209 บาท ทั้งนี้ KBANK มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 189 บาท มีแนวต้านที่ 199.50, 200.00, และ 201.00 บาท และแนวรับที่ 197.50, 196.50, และ 195.50 บาท