นางสาลินี วังตาล ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันการอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดทำโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เนื่องจากการส่งออกมะพร้าวในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ แต่มีปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว โดยมอบหมายให้สถาบันการอาหาร กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชนดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าวเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การให้องค์ความรู้การเพราะปลูกและคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าในเรื่องการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตในส่วนของการยืดอายุ และการลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยกลุ่มธุรกิจมะพร้าวที่เน้นจะมี 3 กลุ่ม คือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวและเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ
ในส่วนคลัสเตอร์สมุนไพร จะเน้นการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงเช่นกัน แต่ผลผลิตสมุนไพรไทยนั้นยังไม่เป็นออแกนิกส์และมีปัญหาด้านการกำหนดมาตรฐาน จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ เช่น กระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย. รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
"สสว. ตั้งเป้าหมายรวมกลุ่มคลัสเตอร์มะพร้าว 25 เครือข่าย มีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 3,300 ราย และกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพรไทยรวม 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 700 ราย โดยในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมด 4,000 ราย" นางสาลินี กล่าว
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผอ.สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารจะดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 เดือน (พ.ค. - ก.ย. 2560) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย โดยจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดอบรมและทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ จัดทำเวิร์กชอป ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และจัดให้มีการเพิ่มช่องทางการขายสู่การเป็น Coconut Pavilion เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย
ด้าน นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร กลางน้ำ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นยา กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้จำหน่าย ค้าปลีกและค้าส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากสมุนไพร
โดยมีเป้าหมายให้เกิดการรวมกลุ่ม 5 เครือข่าย ยกระดับผู้ประกอบการจำนวน 700 ราย ในปี 2560 มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ให้มีผลิตภาพในด้านต่าง ๆ สูงขึ้น และพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent:CDA)ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ จำนวน 10 ราย ซึ่งจะมีการจัดการประชุมและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคอีสาน (ขอนแก่น สกลนคร) ภาคใต้ (พังงา นครศรีธรรมราช) และภาคกลาง (สระบุรี จันทบุรี)