นพ.ธเนศ อมรพิทักษ์กูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮิร์บพลัส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจคลินิกและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร "เฮิร์บพลัส" (Herb Plus) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาคนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าผู้ผลิตที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรยังมีไม่มาก โดยเรื่องดังกล่าวต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าดูจากตำราแล้วนำมาใช้ เนื่องจากการใช้สมุนไพรมีข้อจำกัดต่างๆ ค่อนข้างมาก
หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อนการใช้สมุนไพรจะยาก เพราะมีองค์ประกอบที่ต้องทำความเข้าใจด้วยกันหลายอย่าง และยังถูกมองว่าสามารถรักษาได้หลายโรค เปรียบเสมือนยาสารพัดนึก ส่งผลให้คนทั่วไปเข้าใจยาก และเกิคดวามสับสนกับสรรพคุณต่างๆ เช่น บางสูตรระบุว่าบำรุงเลือดแบบกว้างๆ แต่ไม่เจาะจงอวัยวะ เป็นต้น
สำหรับการใช้สมุนไพรในรูปแบบใหม่จะอิงตามกลุ่มอาการ รวมถึงเน้นอวัยวะที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าในอดีต ขณะเดียวกันสมุนไพรสมัยใหม่ยังใช้เทคโนโลยีการสกัดเข้ามา เพื่อทำให้ผลิตสมุนไพรมีคุณภาพ และออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้นอีกด้วย โดยการสกัดจะได้แต่ส่วนสารที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ของสมุนไพร ไม่เอากากสมุนไพรที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายเข้ามารวมอยู่ด้วย ทำให้บริษัทชั้นนำต่างๆ ที่อยู่ในตลาดเริ่มจะนำมาใช้แล้วเช่นกัน เพราะสมุนไพรที่ดีไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพมากขึ้น ซึ่งสมุนไพรสกัด 1 แคปซูล จะเทียบได้เท่ากับสมุนไพรไม่สกัดประมาณ 10-15 แคปซูล
นพ.ธเนศ กล่าวว่า ภาพรวมของเฮิร์บพลัสยังเติบโตได้ดีพอสมควร แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังชะลอตัว แต่เนื่องจากบริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเท่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องทุกปี ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มาตลอด หรือสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสมุนไพรเฮิร์บพลัส ซึ่งหากผลิตภัณฑ์สามารถดูแลเรื่องสุขภาพได้อย่างแท้จริง ก็จะทำให้เกิดการบอกต่อเกิดขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้ที่สนใจสุขภาพ อยากดูแลตัวเอง โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่รู้ว่าต้องเลือกซื้อสมุนไพรที่มีมาตรฐานทั้งด้านการผลิตและสูตรที่ปลอดภัยได้จากที่ไหน เพราะทุกอย่างต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ และมาตรฐานการผลิตระดับสากล ทำให้บริษัทมีผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และหลังจากลองใช้ผลิตภัณฑ์ก็ประทับใจ และเกิดการบอกต่อ (Word Of Mouth) ไปยังบุคคลอื่นให้มาทดลองใช้
ทั้งนี้ สูตรสมุนไพรที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจดเป็นอาหารเสริมมีทั้งหมด 6 รายการ ซึ่งตนเองจะเดินหน้าพัฒนาสูตรใหม่อย่างต่อเนื่องให้ดีที่สุด โดยจำหน่ายผ่านช่องทางทีวี ,เชนสโตร์ เป็นหลัก พร้อมกับใช้ควบคู่ยาแผนปัจจุบันในบางคลินิก
ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายเฮิร์บพลัสไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและฮ่องกง ทั้งยังอยู่ระหว่างการวางแผนงาน เพื่อให้เกิดการทดลองใช้สินค้าและเข้าใจสมุนไพรมากขึ้น บริษัทเตรียมปรับขาดของบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงอีกด้วย
ส่วนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลสมุนไพรเลือกใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี แม้ว่าลูกค้าจะมีวัยกลางคนขึ้นไปจนถึงวัยเกษียณ แต่ก็มีพฤติกรรมของการเล่นโซเชียลมีเดียกันจำนวนมาก รวมถึงสื่อออนไลน์ประเภทอื่น เพราะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้มีพฤติกรรมการหาหาข้อมูลจากหลายๆสื่อ ไม่ใช่เพียงสื่อแบบเดิมหรือรูปแบบเดียวอีกต่อไป
ทั้งนี้ การเลือกใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ต้องสร้างเนื้อหาให้มีความน่าสนใจ เข้าใจง่าย หรือผู้บริโภครับสารแล้วเข้าใจว่าต้องการสื่อสารว่าอย่างไร บริษัทจะเน้นการใช้ Infographic ให้ดูน่าสนใจ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่ายและสวยงาม เชื่อว่าจะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจเรื่องสมุนไพรได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับนำข้อมูลและผลวิจัยที่น่าสนใจจากต่างประเทศมานำเสนอ แน่นอนว่าการใช้ภาษาต้องไม่เป็นวิชาการมากเกินไป
อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อว่าจากการพยายามผลิตสมุนไพรคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพประชากรไทย และหากสุขภาพทุกคนดี ก็ย่อมส่งผลให้การดำเนินธุรกิจดีตามไปด้วย หรือมีแนวคิดที่ว่าต้องให้สิ่งที่ดีกับสังคมก่อน แล้วจะได้สิ่งดีๆตอบแทนกลับมา