กระทรวงวิทย์นำร่องจัดกิจกรรมภูมิภาคสัญจรโครงการ InnoAgri พัฒนาเกษตรกรด้วย วทน. @ จังหวัดศรีสะเกษ

พฤหัส ๑๓ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๐๗
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาเกษตรกร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Agriculture : InnoAgri) นำร่องส่วนภูมิภาค โดยมี นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตลอดจนผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่ และพี่น้องเกษตรกรร่วมให้การต้อนรับ ณ เทศบาลตำบลบึงบูรพ์ ต.บึงบูรพ์ อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า โครงการ InnoAgri เป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม (Traditional Farming) ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart Farming) เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าร่วมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของเกษตรแปลงใหญ่

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการ InnoAgri ว่า จะดำเนินโครงการผ่านรูปแบบกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.ยกระดับเกษตรกรเป็น เกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) ที่สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)ที่ เหมาะกับยุคสมัยใช้สำหรับการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 2.ยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (InnoAgri Entrepreneur) ด้วย วทน. ใช้สำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผล และ 3.สนับสนุนการสร้างเกษตรนวัตกรรมยั่งยืน (InnoAgri Sustainability) ด้วยการสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม (InnoAgri village) ที่มีความสามารถในการนำ วทน. มาใช้เพิ่มผลิตภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่เน้นสร้างทายาทเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชนผ่านระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบฐานข้อมูล InnoAgri datahub จนเกิดเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จต้นแบบ InnoAgri champion

โดยมีเป้าหมายการดำเนินโครงการ ดังนี้ 1.มีเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart farmer) จำนวน 3,000 ราย และนำไปใช้ประโยชน์ 1,500 ราย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 20 2.เกษตรกรสามารถพัฒนาและยกระดับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรจำนวน 200 ราย ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกระดับ/มีผลิตภัณฑ์ใหม่ 20 ผลิตภัณฑ์ 3.ชุมชนต้นแบบเกษตรแบบครบวงจรที่ได้นำ วทน. มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา 2 ชุมชน และ 4.ฐานข้อมูลที่จัดเก็บในรูปแบบคลังความรู้ (InnoAgri Datahub) 1 ฐานข้อมูล

กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ InnoAgri จะต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจากสภาเกษตรกรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการรับรู้เร็ว และ มีประวัติการนำเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดไปใช้จริง 2.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตร มีศักยภาพในการชำระเงินกู้ และ 3.ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของพื้นที่

การดำเนินโครงการในปีพ.ศ. 2560 มุ่งเน้นการจัดงาน InnoAgri รายภูมิภาคต่างๆ คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในรูปแบบการให้ความรู้ผ่านเวทีการประชุม สัมมนา การเรียนรู้ผ่านการสาธิตเชิงปฏิบัติการนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพันธมิตร (Supply Side Science Technology and Innovation) และเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค นำเสนอความต้องการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Demand Side Science Technology Innovation) รวมถึงแนวความคิดเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนา จากโจทย์ความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางการเงิน และหน่วยงานต่างประเทศ ภายในนิทรรศการหลักของงาน ซึ่งนอกจากความรู้ที่มอบให้แล้วทางโครงการ ยังมีการจับคู่เทคโนโลยี (STI Matching) การแสดงผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยและพัฒนา เครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย เอกชน

สำหรับกิจกรรมนำร่องของโครงการ InnoAgri ได้เริ่มต้นระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2560 ณ เทศบาลตำบลบึงบูรพ์ ต.บึงบูรพ์ อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเน้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 2,500 ราย ภายในงานนอกจากการจัดนิทรรศการแล้ว ยังมีการเสวนา การบรรยาย และการสาธิตเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งกิจกรรมห้องเรียนเทคโนโลยีในหัวข้อต่างๆจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร อาทิ โครงการ ABC Center , InnoAgri ให้อะไรกับคุณบ้าง การใช้แอปพลิเคชั่นทางการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ติดปีกธุรกิจให้กับเกษตรกร เกษตรกรไทยก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ใครจะช่วยเหลือเกษตรกรบ้างยกมือขึ้น การบริหารจัดการน้ำชุมชน ดาวเทียม THEOS 2 กับการเกษตรไทย เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกระดับชุมชน มาตรฐานข้าวไทยฉบับปรับปรุงใหม่ การตรวจสอบมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ การแปรรูปข้าว ข้าวฮางงอกกับข้างกล้องต่างกันอย่างไร การทำแชมพูจากข้าว การทำแพนเค้กข้าวกล้อง ข้างเคลือบสมุนไพร การทำซาลาเปา/ขนมขาไก่จากข้าว การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง

ทั้งนี้ โครงการ InnoAgri กำหนดจัดกิจกรรมครั้งต่อไปในระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2560 เวลา 08.30-17.00 น. ณ โรงเรียนสา ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 1,500 ราย เข้าร่วมกิจกรรม

ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนเครือข่ายสมาคม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประชารัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ผู้ประกอบการกลุ่มชุมชน SMEs OTOP ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้ที่ องค์กรสภาเกษตรกรจังหวัด หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาในจังหวัดศรีสะเกษและน่าน หรือที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 35 ม.3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันและเวลาราชการ หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 577 9015 และ 02 577 9017 หรือที่ E-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO