ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลาเปิดเผยว่า ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 มิถุนายน 2560 พบว่าพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นแล้วจำนวน 4 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย จึงฝากเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลาย จากผู้อื่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ประเทศไทยยังไม่ได้แนะนำให้บุคคลทั่วไปฉีดวัคซีน บุคคลที่แนะนำให้ไปฉัดวัคซีนคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ถูกตัดม้าม หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เพราะคนเหล่านี้เมื่อติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นจะมีโอกาสเป็นแบบติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดชนิดที่รุนแรงได้มากกว่าคนปกติทั่วไป ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงจากละอองฝอย น้ำมูก น้ำลายและเสมหะผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะ อาการของโรค คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำจนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอย่างรุนแรง ซึ่งการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ทำให้มีอาการสำคัญที่เรียกว่า "คอแข็ง" และในรายที่มีอาการรุนแรง คือการอักเสบลุกลามลงมาตามไขสันหลังก็จะมีอาการตัวเกร็งหลังแอ่น บางรายมีอาการรุนแรงช็อกถึงตายได้ในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ ดังนั้นหาก มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422"