นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างเป็นความสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อตัวลูกจ้าง ครอบครัว และสังคม ซึ่งพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปแรงงาน อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการในการสร้างระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และกำหนดให้ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยฯ ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย กสร.จึงขอให้นายจ้างตรวจสอบและบริหารจัดการมาตรการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามกฎหมาย
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติม นายจ้างสามารถดำเนินการตรวจสอบและบริหารจัดการมาตรการด้านความปลอดภัยฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ(คปอ.) ซึ่งเป็นบุคลากรด้านความปลอดภัยฯที่กฎหมายกำหนดให้มีขึ้นในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายและเป็นไปอย่างยั่งยืน สำหรับนายจ้างที่มีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานสอบถามได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9128 - 39 ศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขต 1 - 12 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต 1 - 10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์ สายด่วน 1546