ครูทิพยวรรณ แซ่ตั้น ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า จากการสำรวจและตรวจสอบข้อมูลของเด็กในโรงเรียนพบว่า มีเด็กระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 122 คน มีภาวะทุพโภชนาการ 12 คน โดยเป็นเด็กอ้วน 10 คน และพบว่าเด็กนักเรียนมีปัญหากับการกินผักและผลไม้ถึง 60 คน มีเด็กที่ไม่กินผักและผลไม้เลย 10 คน เมื่อได้ข้อมูลและกลุ่มเป้าหมาย จึงตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายใน 60 คนนี้ให้กินผักเพิ่มเป็นร้อยละ 80 จากนั้นก็สร้างทีม สร้างกิจกรรม เพื่อชักชวนให้เด็กๆ เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์โดยหันมากินผักและผลไม้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
"เราได้พัฒนาแกนนำนักเรียนจำนวน 10 คน ทีผ่านการอบรมจนมีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ มาช่วยกันทำงาน โดยมีหน้าที่สำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารกลางวันของกลุ่มเป้าหมายขณะเดียวกันก็เชิญ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกหาร มาให้ความรู้กับเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายให้รับรู้ทั้งโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมกินผักผลไม้ การจัดกระจาดผักผลไม้ เล่นเกม และให้ของรางวัลเป็นผลไม้ มีการประกวดเขียนภาพ ระบายสี แต่งเรียงความ ในช่วงปิดเทอมก็จะมีแบบฟอร์มส่งให้ผู้ปกครองเพื่อกำกับให้มีผักผลไม้ในแต่ละมื้ออาหาร นอกจากนี้ยังจัดตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง ดึงชุมชน ผู้ปกครอง ให้นำผัก ผลไม้มาจำหน่าย ในโรงเรียนเพื่อสร้างความน่าสนใจอีกด้วย" ครูทิพวรรณ ระบุ
จากการดำเนินงานดำเนินงานโดยมีระบบการติดตามผลและตรวจเช็คการรับประทานอาหารมื้อกลางวันของนักเรียนเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดตารางการรับประทานอาหารที่เหมาะสมที่ในช่วงปิดภาคเรียนเมื่อเด็กอยู่บ้าน พบว่ากลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 80 หันมารับประทานผักและผลไม้มากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นเพื่อที่จะขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาทุพโภชนาการได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.