นอกจากนี้สมาคมฯ ยังถูกขอให้คงราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขั้นต่ำไว้ที่ 8 บาทอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีกำไรและสามารถอยู่ได้ แต่กลับถูกป้ายสีว่านำเข้าข้าวสาลีมาเพื่อกดราคาเกษตรกร
"การนำเข้าข้าวสาลีถูกควบคุมโดยมาตรการของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว ที่ผ่านมาธุรกิจอาหารสัตว์ต้องดำเนินการปรับตัวรองรับกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด รวมถึงยังรับประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้ที่ 8 บาท ในปี 2560 โรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการใช้ข้าวโพดประมาณ 8.1 ล้านตัน ทำให้ยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีเพื่อเติมเต็มจำนวนที่ขาดเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก มาตรการดังกล่าวทำให้อาหารสัตว์นำเข้าสาลีได้ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน เมื่อรวมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีเพียง 4.5 ล้านตันถือว่ายังไม่เพียงพอในการใช้ผลิตอาหารสัตว์"
ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านมีต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าไทย จึงเป็นเหตุให้พ่อค้าพืชไร่ละเมิดมาตรการนำเข้าและลักลอบนำเข้าข้าวโพดเพื่อมาสวมสิทธิ์เป็นข้าวโพดไทยและขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ในราคาขั้นต่ำ 8 บาท คิดเป็นกำไรที่สูงมากของกลุ่มพ่อค้า
หากแต่การนำเข้าข้าวโพดผิดกฏหมาย ย่อมไม่มีเอกสารสิทธิแสดงพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องได้ คนกลุ่มนี้จึงพยายามใส่ความข้าวสาลีว่าทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำ ทั้งๆที่ราคาข้าวโพดมีการกำหนดให้สูงโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้โรงงานอาหารสัตว์จำต้องรับซื้อข้าวโพดลักลอบของกลุ่มพ่อค้าในราคาสูง เนื่องจากไม่พอใช้ในกระบวนการผลิต นับเป็นเกมส์การค้าที่ไม่โปร่งใส และคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก จึงวอนขอภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์เดิมที่ไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ผิดกฏหมาย รวมถึงนำเข้ามาอย่างผิดกฏหมายด้วย และจะดำเนินการไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้ง 100% ในเร็วๆนี้ ซึ่งได้ขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์แล้ว
"สมาคมยืนยันไม่สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ผิดกฏหมาย และจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตอนนี้ต้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในการตรวจสอบที่มาของข้าวโพด และขอสนับสนุนโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมากขึ้น โดยหากสามารถใช้ระบบ GAP เข้าไปจับด้วยได้ จะส่งผลให้ต้นทุนการปลูกลดลง ผลผลิตและคุณภาพข้าวโพดดีขึ้นอีกด้วย"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเห็นพ้องว่าการปลูกข้าวโพดหลังนาทดแทนพื้นที่นาปรังจะช่วยแก้ปัญหาข้าวโพดที่ขาดและช่วยแก้ปัญหาข้าวล้นตลาดไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันยังช่วยกระจายผลผลิตไม่ให้กระจุกตัว ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยต้องทำไปพร้อมกับการลดพื้นที่ปลูกที่ผิดกฏหมายในช่วงต้นฝนด้วย
ในที่ประชุมเดียวกันนั้น สมาคมพ่อค้าพืชไร่ยอมรับต่อหน้ารัฐมนตรีฯ ว่ามีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดกว่า 1 ล้านตันจริง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ในคราวที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดวัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจรกลางปี 2559 ที่ผ่านมา
กรณีที่นางมัลลิกา บุญมีตระกูล ออกมากล่าวถึงการระงับการนำเข้าข้าวสาลีนั้น จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และกำลังทำร้ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด หากต้องการช่วยเกษตรกรจริง ขอให้ร่วมมือกับรัฐเดินหน้าในสิ่งที่ถูกกฏมายและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน ดีกว่าช่วยกลุ่มพ่อค้าที่ลักลอบทำผิดกฏหมาย
"การนำเข้าข้าวสาลีอย่างถูกต้องไม่ควรถูกกล่าวหา และปล่อยให้การลักลอบนำเข้าข้าวโพดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฏหมายลอยนวล ทั้งๆที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ราคาข้าวโพดในประเทศตกต่ำ" นายพรศิลป์กล่าวทิ้งท้าย