นายเผด็จ ผิวงาม ผู้อำนวยการสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดชลบุรี เป็นสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 7 - 18 ปี และเป็นเด็กที่ขาดผู้อุปการะ กำพร้า ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน พลัดหลง ครอบครัวยากจน ครอบครัวแตกแยก เด็กที่บิดามารดา ผู้ปกครองให้การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ถูกกระทำทารุณ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับขายบริการทางเพศ เด็กที่มีปัญหาความประพฤติตนไม่เหมาะสมกับวัย และเด็กที่หน่วยงานราชการ เอกชน ขอความร่วมมือรับไว้อุปการะ บุตรผู้รับการสงเคราะห์ บิดา มารดา ต้องโทษ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีอาการทางจิตประสาท เด็กเหล่านี้จึงต้องมาอยู่รวมกันในสถานสงเคราะห์ฯ ซึ่งเราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กกลุ่มพิเศษ เราพยายามหากิจกรรมสำหรับเยียวยาจิตใจและเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้กับเค้า กิจกรรมหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ การร้องเพลงประสานเสียงในโครงการดนตรีบำบัดสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กในสถานรองรับ : เพชรน้ำหนึ่ง จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
"เด็กในสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ ร้อยละ 90 จะมีอาการทางจิตเวชและต้องทานยาตลอด จะมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ไม่ต้องทานยา พฤติกรรมปกติของเค้าคือ เอะอะโวยวาย ด่าพ่อแม่ ทะเลาะกัน ไม่มีสมาธิ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อมูลนิธิฯ เข้ามาทำกิจกรรมการร้องเพลงประสานเสียงในช่วงแรก เด็กหลายคนให้ความร่วมมือดี แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่สนใจทำกิจกรรมเลย เมื่อเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ เค้ายอมเข้าร่วมกิจกรรมเพราะเค้าเห็นเพื่อนทำโดยความสมัครใจ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี รวมทั้งในเรื่องของอารมณ์ เค้าจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน ดุร้าย ต่อต้าน ซึ่งเมื่ออยู่ในช่วงเล่นดนตรี หรือหลังจากเล่นดนตรีแล้ว อารมณ์เค้าจะเปลี่ยนไปทันที จากที่อารมณ์ร้ายโมโห เอะอะโวยวาย จะลดน้อยลงหรือแทบจะไม่พบเลย มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือเราตรงนี้ มันทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่าที่เราทำกันเองมาก เพราะมูลนิธิฯ มีกระบวนการที่ชัดเจน และมีวิธีการที่ถูกต้อง ครูที่เข้ามาสอนก็มีประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ ผลลัพธ์ที่ชัดเจน คือ เด็กลดพฤติกรรมความรุนแรง ลดความก้าวร้าวลง มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เด็กกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง สามารถขึ้นโชว์การแสดงได้อย่างมั่นใจ ร้องเพลงประสานเสียงได้ ถูกต้องตามวิธีที่ครูสอน"
การป้องกันหรือการลดจำนวนเด็กพิเศษเหล่านี้คือ เด็กทุกคนควรจะได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม พ่อแม่ต้องให้ความรักความเมตตาต่อเด็ก จะทำให้เด็กได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว ซึ่งเป็นเกราะป้องกันชั้นดีที่ไม่ทำให้เค้าไปสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต พ่อแม่ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง พูดคุยกับลูกอย่างมีเหตุมีผล สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ ต้องการโครงการแบบนี้ เพราะมันเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและต่อเนื่องอย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะเมื่อจบโครงการนี้ไป เราก็ไม่รู้ว่าเราจะทำกันเองได้ไหม เด็กจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเป็นขั้นบันไดหรือไม่ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรื เจริญสุข และ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทุกรูปแบบ และเราช่วยเค้าโดยผ่านดนตรี เพราะเราเชื่อว่าเสียงดนตรีจะไปช่วยขยายโมเลกุลของกล้ามเนื้อ และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เมื่อโมเลกุลของร่างกายขยายแล้วเค้าก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น ระหว่างที่เค้ายิ้มแย้มเค้าจะลืมความทุกข์ไปเพราะมีความสุขเข้ามาแทนที่ ยิ่งเค้าร้องเพลงบ่อย ๆ ความสุขจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เสียงเพลงจึงกลายเป็นเพื่อนของคนเหงา และดนตรีไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใคร
ผมว่าสังคมไทยมีคนอับเฉาเยอะ หมายความว่ามีคนด้อยโอกาสมาก แต่ไม่ค่อยมีใครนำดนตรีไปบำบัดจิตใจคน เมื่อคนร้องเพลงออกมาแล้วมีเสียงใสหรือเสียงคลุมเครือ มันบ่งบอกถึงจิตใจเค้าว่าสะอาดหรือไม่สะอาด หากเสียงอู้อี้ร้องไม่เต็มปากแสดงว่าความทุกข์ในจิตใจเค้าเยอะ แต่ถ้าเมื่อไรที่เค้าร้องเพลงอย่างเปิดเผยสง่างาม แสดงว่าความทุกข์เค้าลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าเมื่อมูลนิธิฯ เข้าไปจากที่เด็กเล่นดนตรีหรือร้องเพลง 1 - 2 สัปดาห์ เด็กจะหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น มีความเป็นมิตรมากขึ้น เปิดโอกาสให้ตนเองคุยกับผู้อื่นได้มากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ความทุกข์ก็น้อยลงไปเอง เมื่อเด็กมีความสุขมากขึ้นโอกาสที่เค้าจะเติบโตทางร่างกาย จิตวิญญาณ และสมองก็จะดีขึ้นด้วย
ด้าน นายกฤษดา หุ่นเจริญ หรือ ครูปุ๊ อาจารย์ประจำสาขาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผมมีประสบการณ์ในการสอนดนตรีเด็กพิเศษมาก่อน จึงตอบรับที่จะเป็นครูในโครงการนี้เพราะรู้สึกว่าเป็นการช่วยเหลือคน และยังมีหน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้น้อย ทั้งที่เค้ามีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป เค้ายังเป็นเด็กและยังเรียนรู้ได้ เพียงแต่การเรียนรู้จะแตกต่างกัน รวมทั้งวิธีการ และระยะเวลา ในช่วงแรกเราเข้าไปประเมินทักษะทางดนตรี การร้องเพลง การเคลื่อนไหว ความเข้าใจ รวมถึงการประเมินเรื่องสังคมและอารมณ์ ระดับสติปัญญา และนำมาวางแผนเตรียมรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังส่งเสริมเรื่องทักษะสังคม (Social Skill) ได้แก่ การยืน การยิ้ม การวางตัว การมีส่วนร่วมในสังคม ความภาคภูมิใจในตนเอง การยอมรับผู้อื่น ระเบียบวินัย การอ่านจังหวะ การอ่านโน้ต การเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เค้ายอมรับกฎเกณฑ์ในสังคมได้ เพื่อที่จะได้พร้อมในการออกจากสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กฯ ไปอยู่ในสังคมและพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ผลการประเมิน การพบพูดคุย การสังเกตความร่วมมือในห้อง ความสดใส การแยกตัว เห็นได้ชัด คือ การให้ความร่วมมือ ดีขึ้น ในระดับที่มากขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีกับการนำดนตรีมาบำบัด เพราะดนตรีมีพลัง ทำให้คนเจ็บป่วย ลืมความเจ็บป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายคิดถึงความสุขในช่วงหนึ่งของชีวิตโดยไม่จากไปพร้อมกับความกลัว ความเครียด ดนตรีทำให้เด็กที่เกิดก่อนกำหนด เกิดความผ่อนคลายได้ ผมว่าการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและคนในครอบครัวคือสิ่งสำคัญ ประเทศไทยเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว ถ้าครอบครัวดีก็จะผลิตเด็กที่ดี เด็กที่ดีก็จะเป็นบุคลากรที่ดีมีคุณภาพในอนาคต
น้องดัง ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า พวกเราไม่เคยร้องเพลงด้วยกันมาก่อน เมื่อต้องมาร้องพร้อมกันมันยากมากครับ ก็เลยตั้งใจเวลาที่ครูเข้ามาสอน เพราะว่าอยากร้องเพลงประสานเสียงได้ พยายามฟังและซ้อมตอนอาบน้ำทุกครั้ง จะได้ร้องเพลงได้ อยากทำให้ได้ดี ผมอยากมีความรู้ติดตัว อยากคุยกับคนข้างนอกด้วยครับ ในอนาคตผมฝันอยากเป็นดารานักแสดง เพราะว่าพ่อแม่ชอบดูละคร อยากให้พ่อแม่ชื่นชม อีกอย่างคือดาราเป็นตัวอย่างของเด็กและเยาวชน พ่อแม่คงดีใจมากครับ
น้องโค้ก เยาวชนอีกคนในโครงการ กล่าวว่า ผมไม่ถนัดเรื่องร้องเพลงเลยครับ แต่ครูและพี่เลี้ยง เค้าไม่ดุ นอกจากสอนร้องเพลงแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก แต่พอได้ทำก็รู้ว่าตัวเองก็ทำได้ เพื่อนหลายคนก็ทำได้ดี รู้สึกดีได้ร้องเพลงให้คนอื่นฟัง ยิ่งคนฟังชื่นชมและปรบมือให้ยิ่งดีใจมากครับ ขอบคุณโครงการนี้ ขอบคุณครูต้น ครูแบงค์ ครูทอม และผู้เกี่ยวข้องทุกคน สุดท้ายอยากขอบคุณที่ให้โอกาสพวกเราได้เปิดหูเปิดตา ขอบคุณที่สละเวลามาสอนพวกเราครับ
อย่างไรก็ตามตอนนี้ผมเชื่อว่าตอนนี้เค้ามองโลกในแง่ดีมากขึ้น และต่อไปเค้าจะเริ่มเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกับผู้อื่นมากขึ้น รู้จักการให้มากขึ้นเหมือนตอนนี้ที่เค้าตั้งใจมอบความสุขผ่านเสียงเพลงให้ผู้อื่น ต่อไปเค้าก็จะหันมาช่วยเหลือเพื่อน ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม เพราะวันนี้เค้าได้รับและเค้าจะจดจำไปตลอดชีวิต ในอนาคตหากเด็กเหล่านี้เค้าทำสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ อ.สุกรี กล่าวทิ้งท้าย