นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนพฤษภาคม ขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.15 ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง ร้อยละ 17.6 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 21.5 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เนื้อไก่แช่แข็ง น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันพืช
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ โดยเป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IOT ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีคำสั่งซื้อสินค้าจำพวก Other ICs, Transistors,Monolithic ICs และ PCBA มากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากในปีก่อนวัตถุดิบน้ำยางสำหรับผลิตมีจำนวนน้อยกว่าในปีนี้ อีกทั้งผู้ผลิตบางรายมีการเพิ่มทุนและขยายการผลิต ทำให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก
เนื้อไก่แช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากเนื้อไก่แช่แข็งและ แช่เย็นที่ขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออกได้เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศผู้ผลิตไก่รายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งผู้ผลิตเนื้อไก่ในบราซิลประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพของเนื้อไก่ ทำให้หลายประเทศนำเข้าเนื้อไก่จากไทยที่มีมาตรฐานในการผลิตมากกว่าน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.13 เนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นมีการหยุดเพื่อซ่อมบำรุงทั้งโรงกลั่นมากกว่าในปีนี้ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ไร้สารตะกั่ว และน้ำมันเตาชนิดที่ 5
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากปีก่อนมีภาวะภัยแล้งทำให้ได้ผลผลิตปาล์มน้อย แต่ปีนี้มีฝนตกชุกและแล้งน้อยกว่าทำให้ได้ผลผลิตปาล์มมากกว่า รวมถึงมีมาตรการดูแลราคาปาล์มน้ำมัน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดปาล์มในเปอร์เซ็นต์น้ำมัน (yield) ตั้งแต่ 18-20% มากขึ้น และได้ปริมาณน้ำมันที่สกัดได้เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีบางอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.15 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลง ลูกค้าจึงชะลอคำสั่งซื้อและบริหารสต็อกที่มีอยู่ในมือแทน รวมถึงปีนี้ฝนตกชุกและตกเร็วกว่าปีก่อน ทำให้การก่อสร้างทำได้ล่าช้ากว่าปกติ
เครื่องประดับ ปรับตัวลดลงร้อยละ 36.53 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากลูกค้าระมัดระวังในการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น รวมถึงภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้สั่งซื้อชะลอการนำเข้าไปด้วย
น้ำดื่ม ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.50 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากในปีนี้ฤดูฝนมาเร็วและตกชุกทำให้สภาพอากาศไม่ร้อนจัด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าในตลาดลดลง และผู้ผลิตชะลอการผลิตหลังแคมเปญกระตุ้นตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่สิ้นสุดลง