ฟิทช์คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ 'Excellent(tha)’

ศุกร์ ๑๔ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๐๔
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Excellent(tha)' แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM สะท้อนถึงกระบวนการการลงทุนที่ดีพร้อม บุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงหลายระดับ นอกจากนี้อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนที่ดี เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และการเผยแพร่ข้อมูลต่อนักลงทุนกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเป็นระบบ

SCBAM ยังคงมีเป้าหมายที่จะให้นักลงทุนมาลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆหรือใช้กลยุทธ์การลงทุนหลายแบบ (multi-strategy asset-allocation funds) มากขึ้น โดยการเสนอกองทุนเหล่านั้นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน SCBAM ยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องในธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล กองทุนของ SCBAM มีความหลากหลายของการลงทุนทั้งในด้านกลยุทธ์การลงทุนและสินทรัพย์ที่ลงทุน เมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆ

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ 'Excellent(tha)' ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับดังนี้

กระบวนการการลงทุน: Strong

บุคลากรในการจัดการการลงทุน: Excellent

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง : Excellent

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: Consistent

บริษัทและการบริการลูกค้า: Excellent

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Excellent' 'Strong' 'Proficient' 'Adequate' หรือ 'Weak' โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศที่ระดับ 'Excellent(tha)' แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

กระบวนการการลงทุน

SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทมีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก และการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีหลักการ โดยทั้งหมดมีคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนเป็นผู้ดูแลและควบคุม นอกจากนี้กระบวนการการบริหารจัดการการลงทุนในหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการการบริหารจัดการมาหลายปี

บุคลากรในการจัดการการลงทุน

บุคลากรในการจัดการการลงทุนของ SCBAM มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในระดับสูง โดยมีการแบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน ไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และมีผู้จัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ทำงานผสมผสานกัน จำนวนและประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายการลงทุนมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์ที่บริหารจัดการ โดยมีบุคลากรสำหรับการวิเคราะห์ที่พอเพียง นอกจากนี้ยังมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจน และมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย

ทีมบริหารงานการจัดการการลงทุนของ SCBAM มีจัดแบ่งหน้าที่อย่างมีระบบ และมีประสบการณ์ในการจัดการการลงทุนทั้งโดยรวมและรายบุคคลที่สูง การปรับเปลี่ยนบุคลากรในระดับผู้บริหารในอดีตเกิดขึ้นอย่างทันการและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ระบบงานส่วนหน้าและส่วนหลังยังเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

กระบวนการการควบคุมความเสี่ยงของ SCBAM มีหลายระดับ และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมต่อกัน พนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีประสบการณ์สูง และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงที่ครอบคลุม รวมถึงการทำการทดสอบความเสี่ยงภายใต้ภาวะวิกฤต การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเครดิตของคู่สัญญา และการทำรายงานความเสี่ยงจากการปฏิบัติการการลงทุนและความเสี่ยงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนของ SCBAM เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการลงทุน และมีการวัดความเสี่ยงการลงทุนตามปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนต่างๆ นอกจากนี้บริษัทแม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; 'AA+(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM และเป็นผู้จัดหาบุคลากรและทรัพยากรในการบริหารความเสี่ยงที่มีคุณภาพสูงให้กับทาง SCBAM อีกด้วย

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนย้อนหลังสามปีของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย โดยวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง โดยเฉลี่ยที่สูงกว่าตลาดในแต่ละประเภทของกองทุนตราสารหนี้ สำหรับกองทุนหุ้น SCBAM มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่สูงกว่าคู่แข่งในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่ด้อยกว่าบริษัทอื่นๆในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่สืบเนื่องมาจากกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ต้องบริหารภายใต้ขอบเขตของนโยบายการลงทุนที่ได้ตั้งไว้มานานแล้ว

บริษัทและการบริการลูกค้า

SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลาย โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2560 บริษัทมีความแข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 76% ของ AUM ทั้งหมด บริษัทมีกองทุนรวมที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน และในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการขยายกองทุนไปยังกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ซึ่งได้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของ SCBAM ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ยังคงขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 45% ของกองทุนส่วนบุคคล ณ เดือนเมษายน 2560 ซึ่งแสดงถึงธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของ SCBAM ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในแวดวงนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนมีความเป็นระบบสูง โดยมักจะมีมาตรฐานเหนือกว่ากฎเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม เห็นได้จากรายงานที่บริษัทได้ส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุน

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับห้าปัจจัย (pillars) หลักที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการบริหารจัดการการลงทุน บุคลากรในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนและบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยข้างต้นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย