อาลีบาบา กรุ๊ป แนะธุรกิจเอสเอ็มอีให้ยกระดับการทำงานด้วยเทคโนโลยี ปรับทิศทางเตรียมรับเทรนด์ใหม่ “Made in Internet”

จันทร์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๑๕
นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารของ อาลีบาบา กรุ๊ป แนะแนวทางให้ธุรกิจขนาดย่อมหันมาใช้อินเตอร์เน็ตและนวัตกรรมบิ๊กดาต้าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ การเงิน และการประสานงานกับทั้งลูกค้าและคู่ค้า จนนำไปสู่การปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่สินค้าไม่ได้ผลิตจากประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นผลงานจากกระบวนการสร้างสรรค์ที่ไร้พรมแดน จนเกิดเป็นนิยามใหม่ว่า "Made in Internet"

นายหม่าได้ให้คำแนะนำดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการและสื่อมวลชนจากทั้งประเทศจีนและทั่วโลก ในงานสัมมนา "Global Netrepreneurs Conference" ซึ่งทางอาลีบาบา กรุ๊ป จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อเปิดเวทีพบปะกับทุกภาคส่วนในวงการอีคอมเมิร์ซ ในโอกาสนี้ นายหม่ายังกล่าวคาดการณ์อีกว่าในช่วง 30 ปีข้างหน้า นวัตกรรมอินเตอร์เน็ต บิ๊กดาต้า คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะพัฒนาศักยภาพไปอย่างรวดเร็วเหนือทุกความคาดหมาย จนกระทั่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในทศวรรษหน้านี้ โดยที่ผู้บริโภคหรือธุรกิจขนาดเล็กอาจกลายเป็นผู้กำหนดปัจจัยในการผลิตสินค้า หรือแม้แต่แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์แทน ภายใต้โมเดลธุรกิจแบบ C2B (consumer-to-business) ที่ขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากลูกค้า

"โครงสร้างธุรกิจแบบ C2B และการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าในระดับตัวบุคคล คืออนาคตของโลกธุรกิจในยุค 'Made in Internet' โดยคุณอาจจะออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นในสหรัฐอเมริกา ไปเข้าสู่สายการผลิตในเยอรมนี ก่อนจะประกอบในจีน และส่งออกไปขายทั่วโลกก็เป็นได้" นายหม่ากล่าว "จุดมุ่งหมายของเราคือการสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ และผู้บริโภครุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัย สามารถซื้อขาย ชำระเงิน และรับส่งสินค้าได้จากทุกที่ทั่วโลก"

เพื่อเป็นการตอบสนองต่อเทรนด์ใหม่นี้ นายหม่าได้เผยถึงรายละเอียดของกลยุทธ์ "Five News" ที่อาลีบาบา กรุ๊ปได้นำเสนอเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยครอบคลุมแนวคิดใหม่ทั้งในด้านธุรกิจค้าปลีก ภาคการผลิต การเงิน เทคโนโลยี และพลังงาน ในอนาคต ตลาดค้าปลีกจะผสมผสานรูปแบบการทำธุรกิจของโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ในขณะที่ภาคการผลิตจะปรับรูปแบบการทำงานมาเป็นโมเดล C2B ส่วนภาคการเงินจะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจไว้ได้ด้วยบิ๊กดาต้าและคลาวด์ และข้อมูลในโลกดิจิทัลจะกลายเป็นพลังงานรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกให้สามารถส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วกว่าที่เคย

นายแดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวเสริมอีกว่า "ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไม่จำกัดอยู่แต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าคิดเป็นอัตราส่วน 15% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศจีน แต่เราต้องมุ่งเป้าไปที่การเสริมศักยภาพให้กับตลาดค้าปลีกออฟไลน์อีก 85% ที่เหลืออยู่ด้วยเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้"

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับ "netrepreneur" หรือผู้ประกอบการในโลกออนไลน์นั้น เป็นผลงานการริเริ่มของนายแจ็ค หม่าในปี 2547 โดยนับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเบื้องหลังการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจมากมาย

"ผู้ประกอบการกลุ่ม 'netrepreneur' นี้ มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมาก โดยบางคนก็เลือกที่จะทำงานครอบคลุมกระบวนการในฝั่งต้นน้ำเพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลพฤติกรรมในโลกออนไลน์ของผู้บริโภคเป็นปัจจัยในการพิจารณา ธุรกิจในกลุ่มนี้ต่างนำศักยภาพของอินเตอร์เน็ตและช่องทางการพัฒนาสินค้า ทำตลาด และเสนอขายสินค้าออนไลน์ของเรามาผสมผสานกันอย่างลงตัว จนไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างกระแสใหม่ๆ ในตลาดได้อีกด้วย" นายจางเผย

"ผู้บริโภคในปัจจุบันต่างต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และมีความหลากหลายในตลาด จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถเข้ามาเติมเต็ม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว"

งานสัมมนา "Global Netrepreneurs Conference" มีผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายวงการธุรกิจ นับตั้งแต่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและฟินเทคไปจนถึงหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศและวงการบันเทิง สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วยการบรรยายและช่วงเสวนาบนเวทีในประเด็นต่างๆ มากมาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกออนไลน์-ออฟไลน์ ระบบการซื้อขายสิทธิทางธุรกิจ โอกาสการเข้าถึงเงินทุน การสร้างสรรค์คอนเทนต์สำหรับโลกออนไลน์ และการยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งของผู้บริโภค

สำหรับผู้บรรยายในงานสัมมนานั้น ประกอบไปด้วยนายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก นายจุน เล่ย ผู้ก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานบริหาร บริษัท เสี่ยวหมี่ ลุค แบซง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง นายวีเจย์ เชคาร์ ชาร์มา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเพย์ทีเอ็ม (อินเดีย) ยัง จุน ริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกาเกาเพย์ (เกาหลีใต้) และจอห์น รูบิโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมินท์ (ฟิลิปปินส์)

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลและเนื้อหาจากงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://wangshang.alibaba.com/ หรือ http://www.alizila.com/what-do-you-need-big-data-knnetrepreneur-ows/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ