นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า การนำสายสื่อสารลงใต้ดินในโครงการถนนพหลโยธินจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถือเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ตามแผนปรับปรุงภูมิทัศน์แบบเร่งรัดของกรุงเทพมหานครเร่งรัดให้แล้วเสร็จใน 5 ปี รองรับแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างเต็มศักยภาพ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
"การนำสายสื่อสารลงใต้ดินโครงการถนนพหลโยธินมีทั้งหมด 4 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าว-คลองบางซื่อ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2560 ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี Air Blown system เข้ามาช่วยดันสายสื่อสารลงดิน ทำให้ประหยัดเวลาจากแบบเดิมถึง 5 เท่า และพร้อมสำหรับการนำสายสื่อสารเส้นทางอื่นๆ ลงใต้ดินต่อไป ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ และสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย" นายชัยยงค์ กล่าว
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ของเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นด้วย
"พื้นที่ในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โครงการถนนพหลโยธิน ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อการคมนาคมสำคัญในเมืองหลวง มีการสัญจรต่อวันหนาแน่นระดับต้นๆ ดังนั้นเมื่อมีการปรับปรุงพื้นที่เสร็จสมบูรณ์ย่อมจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้ถนนและคนเดินทางเท้าได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลดีในด้านคุณภาพชีวิตโดยตรงแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญอย่างยิ่งและหากดำเนินงานประสบความสำเร็จที่ดีแล้ว ก็เป็นการยืนยันว่าประเทศไทย พร้อมแล้วที่จะสร้างถนนมหานครแห่งอาเซียนอย่างสมบูรณ์ต่อไป"
ขณะที่ นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ อุปนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญร่วมกับระบบโทรคมนาคมของไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นถนนมหานครแห่งอาเซียน
"การนำสายสื่อสารลงดินในครั้งนี้ เป็นการใช้ท่อร้อยสายใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงกับเอกชน โดยเป็นโครงการทดลองปรับเปลี่ยนสายโทรคมนาคมจากระบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ซึ่งนอกจากจะสามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐในการปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วยังช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ประหยัดงบลงทุนเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมด้วยความจุของจำนวนเส้นใยแก้วนำแสง ที่มากเพียงพอรองรับความต้องการของผู้ประกอบการทุกราย เพื่อมุ่งสู่ถนนมหานครแห่งอาเซียนไปด้วยกัน" นางปรีญาภรณ์ กล่าวในที่สุด