นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สายงานด้านอาชีพอาจต้องมองหลากหลายองค์ประกอบร่วมกัน ทั้งภาพรวมภายในประเทศ ทิศทางกระแสในภูมิภาคอาเซียน และทิศทางกระแสโลก ซึ่งที่ผ่านมา แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนกลับกว่า 7 ปี ทำให้เห็นกระแสทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสายงานด้านอาชีพ ที่แนวโน้มของพฤติกรรมการทำงาน การเลือกทำงาน การสมัครงาน แปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมตามความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต
หากแต่วันนี้ ตลาดแรงงานต้องอ่านเกม มองภาพของประเทศให้ออกถึงอนาคตว่า แรงงานในวันนี้ต้องปรับตัว ตื่นตัวอย่างไร
ตื่น...รู้ว่า 6 ทักษะแรงงานแห่งอนาคตที่ทุกส่วนต้องหันกลับมามอง วันนี้และในอนาคต นายจ้าง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะไม่ได้ต้องการเพียงแค่ Hard Skill (ความรู้ความสามารถทางด้านอาชีพ) อีกแล้ว แรงงานต้องมีส่วนของ Soft Skill (ทักษะด้านอารมณ์และชีวิต)อีกด้วย
1. สายงานด้านภาษา (3rd Language) โลกใบนี้กำลังเปิดกว้าง ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจมีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจึงเป็นสิ่งที่ต้องการมากขึ้น และยิ่งมีทักษะมากกว่า 2 ภาษา ถือเป็นโอกาสที่ดี แนวโน้มของสายงานภาษาที่ 3 ที่กำลังเป็นที่ต้องการ ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น, จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, เยอรมันและเกาหลี
ทักษะด้าน Hard skill ของสายงานด้านภาษา คือ ความเชี่ยวชาญทางภาษา ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ต้องดี มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
ทักษะด้าน Soft skill ที่นายจ้างต้องการ คือ ด้านการสื่อสารระหว่างบุคคลและมนุษยสัมพันธ์
ต้องดี สามารถสื่อสารเจรจาทางด้านธุรกิจ เป็นคนคิดบวก เปิดกว้างทางความคิด มีความชัดเจนในการทำงาน รวดเร็ว มีความเป็นมิตร การเอาใจใส่ในงานและเพื่อนร่วมงาน
2. สายงานด้านวิศวกรรม (Engineer) อนาคตสายงานดังกล่าวมีแนวโน้มในการเติบโตสูง สายงานด้านวิศวกรรม ถือเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบโทรคมนาคม ที่มีหลากหลายสาขา ต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และมีบันไดในการเติบโตในสายงานอาชีพสูง โดยมุมมองทักษะที่นายจ้างต้องการทั้งทักษะเชิงลึกและทักษะรอบด้านประกอบกัน อีกทั้งประสบการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะต้องอาศัยทั้งความรู้และความชำนาญ
ทักษะด้าน Hard skill ทักษะการคิดวิเคราะห์และการคำนวณ ความรู้ด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร การป้องกันและการซ่อมบำรุงในโรงงาน ความรู้ด้านความปลอดภัย การทำงานอย่างเป็นระบบ ทักษะคอมพิวเตอร์ต้องดี และสิ่งที่สายงานนี้ต้องมี คือ ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ อันเนื่องจากเครื่องมือเอกสารต้องมีภาษาอังกฤษเข้ามามีส่วนในการทำงาน
ทักษะด้าน Soft skill การสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นเพราะต้องเข้าให้ได้กับคนทุกระดับ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามารถทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งควรมีความยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้
3. สายงานด้านบัญชีและการเงิน (Accounting & Finance) เป็นสายงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจุบันและอนาคต
ทักษะด้าน Hard skill ต้องมีความรู้พื้นฐานของการทำบัญชีไทยและต่างประเทศ อาทิ
GAAP ความเชียวชาญโปรแกรมทางบัญชีการเงิน อาทิ Express, SAP, ERP, Oracle ทักษะด้านภาษาอังกฤษต้องอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้ามีใบอนุญาติ CPD หรือ CPA จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แนวโน้มของสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ คือ บัญชีต่างประเทศ, การวิเคราะห์การเงินและงบประมาณ รวมถึงการบริหารต้นทุน
ทักษะด้าน Soft skill ของสายงานด้านบัญชีและการเงิน ความถูกต้องแม่นยำและความซื่อสัตย์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันควรมีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีทัศนคติที่ดีสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้และที่สำคัญ
4. สายงานด้านขายและการตลาด (Sales & Marketing) ถือว่าเป็นสายงานที่ยังคงมีต้องการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตตลาดยังคงต้องการแรงงานในสายนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสายงานนี้ตราบใดที่ประเทศยังต้องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การแข่งขันในตลาดโลก และการเข้ามาของเทคโนโลยี แนวโน้มของสายงานนี้ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น อาทิ Digital marketing, Events & Special Activity, Technical Sales, Business Development, CRM และ Customer Services ได้แก่ Call Center & Telesales
ทักษะด้าน Hard skill ที่สายงานนี้ต้องการ คือ ทักษะการใช้โปรแกรมพื้นฐานคอมพิวเตอร์ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะเฉพาะตามสายงาน
ทักษะด้าน Soft skill ที่ควรให้ความใส่ใจ คือ ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารทั้งในและนอกองค์กร การบริหารจัดการในด้านการทำงานและเวลา ทัศนคติที่ดีและเปิดกว้าง
5. สายงานด้านโลจิสติกส์ (Logistics & Supply Chain) การพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างประเทศต้องอาศัยสายงานดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจนำเข้าส่งออก แรงงานด้านนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีแนวโน้มที่ตลาดยังคงต้องการสูง
ทักษะด้าน Hard skill ต้องมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย (Multi Skills) และมีความเข้าใจหลายด้าน อาทิ BOI, Import & Export, Warehouse & Inventory Management มีความรู้ด้าน SAP, MRP, ERP มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและเอกสารด้าน supply chain รวมถึงความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่ดี
ทักษะด้าน Soft skill ต้องสามารถทำงานภายใต้ความกดดันและเวลาได้ มีความสามารถในการสื่อสาร การประสานงาน การเจรจาต่อรอง และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้
6. สายงานด้านไอที (IT) ถือว่าเป็นสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์บทบาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต มีการพัฒนาและเชื่อมโยงเข้าภาคธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างมาก และแนวโน้มในอนาคตยิ่งมีการเติบโตสูง แรงงานในด้านดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องการเป็นเงาตามตัว แนวโน้มสายงานที่กำลังมาแรงคือ Network Engineer, Business Analyst, Developer, Mobile Development, IT Security System
ทักษะด้าน Hard skill ความรู้ด้านระบบการจัดเก็บข้อมูลถือเป็นพื้นที่ที่สายนี้ต้องรู้ อาทิ ระบบ Cloud ภาษา Java ซึ่งเป็นภาษาพื้นฐานในการออกแบบแอปพลิเคชั่น ความรู้ด้าน iOS Android ที่ต้องทราบ ความรู้ด้านการจัดการข้อมูล Database Management และระบบการคัดกรองข้อมูลก่อนการจัดเก็บ Statistical Analysis & Data Mining
ทักษะด้าน Soft skill คือ ทักษะด้านการบริหารเวลาในการควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทักษะด้านการสื่อสาร การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน สามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ การมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และทักษะการประยุกต์ใช้สามารถประยุกต์ทักษะความรู้ของตัวเองเข้ากับธุรกิจและองค์กรได้
ลองคิด ตระหนัก ลืมตาเปิดดูสถานการณ์แรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมก่อน ตั้งรับได้ก่อน จับกระแสเทรนด์ กระแสด้านแรงงาน อาชีพที่เป็นทที่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดวันนี้ ความต้องการทักษะด้านแรงงานของนายจ้าง ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจในอนาคต ความต้องการของแรงงาน ทักษะที่ไม่หยุดที่ความสามารถเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่วันนี้และในอนาคตแรงงานต้องเพิ่มพูนทักษะความสามารถที่มากกว่า Hard Skill และสร้างความน่าสนใจของตัวบุคคลด้าน Soft Skill อีกด้วย "ตื่นเถิดชาวไทย เตรียมตั้งรับก่อนใคร เห็นโอกาสทางอาชีพที่มั่นคง อย่างยั่งยืน" นางสาวสุธิดา กล่าวสรุป