ขับเคลื่อน “ข้อกำหนดแมนเดลา” เต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี

พุธ ๑๙ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๓๐
เนื่องในโอกาสวัน เนลสัน แมนเดลา 18 กรกฎาคม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผสานความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ประกาศขับเคลื่อนการนำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สู่การปฏิบัติเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกในโลก โดยเรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเรือนจำนำร่อง ตั้งเป้าหมายเป็นเรือนจำต้นแบบในพ.ศ. 2561 โดยมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเท่าเทียม นอกจากจะเป็นสิ่งที่สมควรกระทำแล้ว ยังจะมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ และช่วยลดปัญหาการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะประสบปัญหาแออัด จากจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 286,000 คน (เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ต้องขังในปี พ.ศ. 2551) โดยที่ความจุเต็มที่รองรับได้ 245,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการ แต่กรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานปลายน้ำในกระบวนการยุติธรรม ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการเรือนจำให้ได้มาตรฐานมาโดยตลอด และล่าสุดจะได้ริเริ่มขับเคลื่อนนำข้อกำหนดแมนเดลา ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกมาปรับใช้อย่างเป็นทางการในโครงการนำร่อง

ข้อกำหนดแมนเดลา และความเชื่อมโยงกับประเทศไทย

ข้อกำหนดแมนเดลา คือข้อกำหนดแห่งสหประชาชาติที่วางมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการเรือนจำที่ดี รวมทั้งวางมาตรฐานให้มีการเคารพสิทธิของผู้ต้องขัง มีหลักการพื้นฐาน 5 ประการคือ 1) ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ 2) ห้ามการทรมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ 3) ให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ 4) วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำผิดซ้ำ และ 5) ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ในเรือนจำและผู้เข้าเยี่ยม จะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา ก่อนหน้าที่จะมีข้อกำหนดแมนเดลา ประเทศต่างๆ ได้ใช้ "ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง" (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoner: SMR) ซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2498 ในเดือนธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกสมัชชาแห่งสหประชาชาติจำนวนหนึ่ง มีความคิดที่จะปรับปรุง SMR ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม โดยยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศ และเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศแกนนำ ที่ร่วมสนับสนุนการร่างข้อกำหนดฉบับปรับปรุงใหม่ภายใต้ชื่อข้อกำหนดแมนเดลา และผลักดันข้อกำหนดดังกล่าวให้ได้รับการลงมติเห็นชอบจากสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ ชื่อข้อกำหนดดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำถึง 27 ปี ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม

การขับเคลื่อนโดยกรมราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ เตรียมนำข้อกำหนดแมนเดลา มาปรับใช้อย่างเป็นทางการเพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยประสานความร่วมมือกับ TIJ ในด้านองค์ความรู้ ในส่วนการประเมินผลจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ Assessing compliance with the Nelson Mandela Rules: A checklist for internal inspection mechanisms ของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราบอาชญากรรม แห่งสหประชาชาติ (UNODC)

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า "กรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเรือนจำให้ได้มาตรฐานมาโดยตลอด โดยก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนกระบวนการปรับปรุงแก้ไขตามข้อกำหนดแมนเดลามาแล้วบางส่วน และมุ่งมั่นที่จะอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลาอย่างเต็มรูปแบบต่อไป เรือนจำพิเศษธนบุรีถูกเลือกให้เป็นเรือนจำนำร่อง เพราะมีความพร้อมหลายประการ และหากสามารถยกระดับมาตรฐานการจัดการได้เป็นผลสำเร็จ ก็จะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ในการขยายการปฏิบัติตามข้อกำหนดแมนเดลาไปยังเรือนจำและทัณฑสถานแห่งอื่น ๆ"

ภายใต้แนวทางข้อกำหนดแมนเดลา กรมราชทัณฑ์ได้มีการยกระดับการปฏิบัติงานด้วยแผนการบริหารโทษ (Sentence Plan) ทั้งระบบมาแล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การจำแนกลักษณะผู้ต้องขังให้มีความเหมาะสม การควบคุมผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบและมีมนุษยธรรม การพัฒนาพฤตินิสัย โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลพฤติการณ์ของผู้ต้องขัง และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยกรมราชทัณฑ์ได้ก่อสร้างศูนย์เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยภายในเรือนจำและทัณฑสถานเปิดจำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ และได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการของศูนย์เตรียมความพร้อมดังกล่าว

ด้าน นายยศพนต์ สุธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี กล่าวว่า "ในฐานะผู้ปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้อง กับข้อกำหนดแมนเดลา ทางเรือนจำได้มีการแบ่งการทำงานเป็น 7 ระยะ ได้แก่ 1) การวางแผนจัดทำโครงการ 2) การเตรียมการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเรือนจำตามข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ 3) การประกาศขับเคลื่อนเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลา 4) การนำข้อกำหนดแมนเดลามาปฏิบัติ ให้ได้ตามมาตรฐาน 5) การตรวจประเมินเรือนจำ 6) การสรุปและประเมินผล และ 7) การขยายผลสู่เรือนจำและทัณฑสถานอื่น ๆ โดยตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อกำหนดต่างๆ และผ่านการประเมินเป็นเรือนจำต้นแบบภายในพ.ศ. 2561

TIJ กับข้อกำหนดแมนเดลา: จากการผลักดันเชิงนโยบายสู่รูปธรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "TIJ ในฐานะองค์กรด้านวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรม และหนึ่งในสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Crime Prevention and Criminal Justice Programme Network of Institutes : PNIs) ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้สากลสู่การปฏิบัติ โดยเข้าร่วมทำงานเชิงนโยบายในเวทีโลก และการทำงานวิจัย การให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย และการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในประเทศไทยและระดับภูมิภาค ทางด้านมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดและผู้ต้องขัง TIJ ได้มีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง"

ในปีที่ผ่านมา TIJ ร่วมกับองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International - PRI) จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลา (The Southeast Asia Regional Consultation on the Implementation of the Mandela Rules) เพื่อให้ผู้แทนระดับสูงจากกรมราชทัณฑ์และเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมกันหารืออุปสรรคและข้อท้าทายต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในการนำข้อกำหนดแมนเดลามาสู่การปฏิบัติ รวมถึงร่วมกันพิจารณาแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการอนุวัติข้อกำหนดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการเรือนจำ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคู่มือฉบับย่อสำหรับข้อกำหนดแมนเดลาฉบับภาษาไทย ซึ่งแปลจากต้นฉบับของ Penal Reform International (PRI) เพื่อเป็นแนวทางแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในการบริหารจัดการเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามข้อกำหนดแมนเดลา และล่าสุด TIJ ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการขับเคลื่อนข้อกำหนดแมนเดลาสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก โดยมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายและช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษธนบุรี ผลักดันการสร้างเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลาให้เป็นจริง

"โครงการนำร่องเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลาเป็นโครงการที่เกิดขึ้นต่อจากโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพหรือ Bangkok Rules (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผลักดันเข้าเป็นข้อกำหนดสากลขององค์การสหประชาชาติโดย TIJ ในการนี้ TIJ และกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมกันนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติตั้งแต่ปี 2558 มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ สนับสนุนให้เรือนจำและทัณฑสถานหญิง คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดในการบริหารจัดการเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิง ระหว่างปี 2558-2559 มีเรือนจำและทัณฑสถานที่ผ่านการประเมินให้เป็นเรือนจำต้นแบบแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO