จันทรโนทัย ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชมพู่ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อศึกษาตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เวลากว่า 10 ปี และให้การยืนยันว่าเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก คณะผู้วิจัยจึงได้ขอพระราชทานนามเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชไทย ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium sirindhorniae Chantar., Suksathan & M.Wongnak และพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อไทยว่า "ราชรัตน์" โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารด้านอนุกรมวิธานสากล Phytotaxa ฉบับที่ 289 (2) ในเดือนธันวาคม 2559
ราชรัตน์ เป็นพืชหายากถิ่นเดียวมีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก มีใบเรียงตรงข้ามสลับ ตั้งฉาก รูปไข่แกมหอก เนื้อใบหนาแข็ง เส้นใบเด่นชัด ดอก ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด 5-17 ดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ทำให้เมื่อดอกบานพร้อมกันจะสวยงามมาก มีลักษณะคล้ายพู่ไหมสีขาวที่ถูกมัดรวมเข้าด้วยกันเป็นรูปครึ่งทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 20 เซนติเมตร ผล ทรงกลม มีเปลือกหนา เมื่อสุกมีสีม่วง และรับประทานไม่ได้ เพราะไม่มีเนื้อนุ่มเหมือนชมพู่ทั่วไป
ปัจจุบันองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กำลังเร่งดำเนินการศึกษาวิธีการเพาะขยายพันธุ์พืชหายากถิ่นเดียวชนิดนี้ไว้ เพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศสืบไป