นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานเปิดโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Start-up Innovative F&B Products Competition) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมสุโกศล ว่า อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพที่ถูกยกระดับความสำคัญจากทั้งภาคนโยบายของรัฐและการตอบรับของเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายอันใกล้คือการก้าวขึ้นเป็นครัวโลกอย่างเต็มภาคภูมิ และการเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เขมร) และเป็นผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปอันดับที่ 13 ของโลก โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 900,000 ล้านบาท จากการคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในปี 2560 ที่จะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา
"ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพ คือ การมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี มีภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของประเทศแถบอาเซียน รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น ในการผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหารอันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องสนับสนุนให้เกิดการเกษตรแบบยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบรับแนวนโยบายของประเทศ ไทยแลนด์ 4.0"
ด้านนางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Start-up Innovative F&B Products Competition) กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดร่วมของความสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหารทุกภูมิภาคของโลก อันดับแรกคือ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีจุดเด่น ดึงดูดความสนใจและจุดประกายความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้ได้ เนื่องจากในปัจจุบัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารนั้นสูงมาก เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเป็นความต้องการพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น การที่จะทำให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มสามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงต้องอาศัยการสร้างจุดเด่นและความน่าสนใจให้กับสินค้าเหล่านั้น จุดร่วมต่อมา คือการใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์และผลิตจะทำให้อาหารและเครื่องดื่มได้รับความสนใจมากกว่า เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมุ่งเน้นไปยังการรักษาสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และมองไปถึงความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม จะเป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในธุรกิจอีกด้วย
"ซึ่งการจัดโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Start-up Innovative F&B Products Competition) ด้วยความร่วมมือของ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมในวงการอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันให้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลกได้ เพื่อที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นครัวโลกและเมืองนวัตกรรมอาหารได้อย่างเต็มภาคภูมิในที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ตำแหน่งและชื่อเสียงที่จะได้รับ หากจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมอาหารและสามารถสร้างเม็ดเงินไปจนถึงการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติให้กับประเทศได้" นางสาวรุ้งเพชรกล่าวปิดท้าย
นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว.กล่าวเพิ่มเติมว่า วว.เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนและให้บริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 30 ปี วว.วิจัยและพัฒนาด้านอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ (natural functional ingredients) รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement) ผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods) จนถึงการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ตัวอย่างผลงาน วว. ที่สำคัญด้านอาหาร โดยเฉพาะด้านการสกัดสารสำคัญจากพืช ผัก สมุนไพร รวมถึงสาหร่าย เช่น การพัฒนาสารสกัดแอสตาแซนทินจากสาหร่าย ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำ บำรุงสายตา และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วว. ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์พรีและโพรไบโอติก ที่มีคุณสมบัติในการช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น และช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคให้แข็งแรง เป็นต้น
"...วว.พร้อมให้สนับสนุนผู้ประกอบการ Start Up ด้วยการให้บริการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพและบริการ ตลอดจนการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงงานนำร่องสำหรับสายการผลิตเครื่องดื่ม โรงงานนำร่องสำหรับสายการผลิตผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ Start up หรือ SMEs สามารถมาใช้บริการทดลองและทดสอบผลิตจริง เพื่อผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์…" นางฉันทรา พูนศิริ กล่าวในตอนท้าย
โครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Start-up Innovative F&B Products Competition) เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยแล้ววันนี้ และจะหมดเขตรับสมัครในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 โดยจะมีการประกาศผลผู้ชนะเลิศ ในวันที่ 14 กันยายน 2560 ภายในงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2017 ผู้ที่สนใจสามารถทำการสมัครหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fiasia.com